ในยุคดิจิทัล 4.0 เช่นปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารนั้นมีช่องทางการสื่อสารมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลังแบบปากต่อปากที่มีมาตั้งแต่วันกำเนิดโลก จนไปถึงการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตอันไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น การหางานก็เช่นกัน ข้อมูลที่ผู้หางานจะได้รับก็มีช่องทางที่ต่างกันออกไป ในเมื่อคนก็หางาน งานก็หาคนเช่นนี้ จากแบบสำรวจ สุดยอดองค์กรที่น่าร่วมงานด้วยมากที่สุดปี 2016 ที่ทาง jobsDB ได้จัดทำขึ้น ได้ทำการสำรวจด้วยว่า ช่องทางไหนจะได้รับความสนใจจากผู้สมัครงานมากที่สุด โดยขอแบ่งผู้สมัครงานเป็น 2 ระดับ คือกลุ่มผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ กับผู้หางานที่มีประสบการณ์การทำงานแล้ว ดังนี้
อันดับที่1
ผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ – เข้าไปชมเว็บไซต์งาน และเว็บไซต์ของบริษัทนั้น ๆ(คิดเป็น 21%)
เนื่องจากผู้ที่เรียนจบใหม่ ยังมืดแปดด้าน ไม่เคยทำงานที่ไหน และยังไม่เคยมีเพื่อนในที่ทำงาน ดังนั้นการ หางานจากเว็บไซต์งาน หรือเว็บไซต์ของบริษัทที่ตัวเองสนใจ คงจะเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และเป็นวิธีการพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ถ้าอยากได้ผู้สมัครงานดี ๆ มีคุณภาพ อย่าลืมอัปเดตเว็บไซต์ของตัวเองตลอดเวลาด้วยนะคะ
ผู้หางานที่มีประสบการณ์แล้ว – ได้ยินคนอื่นพูดต่อ ๆ กันมา(คิดเป็น 21%)
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานแล้ว โอกาสจะรับรู้เกี่ยวกับงานใหม่ มักจะเป็นการได้ยินกันมาแบบปากต่อปากมากกว่า ประมาณว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อน ๆ แล้วได้ยินมาว่าที่โน่น ที่นี่ กำลังหาตำแหน่งนี้อยู่ หรืออาจมาจากคำเชิญชวนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ลูกค้า suppliers เป็นต้น จะบอกว่าการบอกต่อแบบปากต่อปากนี่แหละ เป็นวิธีการคลาสสิค และทรงประสิทธิภาพมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หากคุณเป็นฝ่ายบุคคล หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ขอแนะนำเลยค่ะว่าการทำ Employer Branding เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งเลยก็ว่าได้ การทำให้พนักงานในองค์กร รู้สึกดีในขณะที่ร่วมงานในองค์กรของคุณ จนพนักงานของคุณเอาไปบอกต่อ ๆ กันเอง ไปเรื่อย ๆ วิธีนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกมา 2 ตัวเลยนะคะ ได้ทั้งพนักงานที่ยังคงอยากร่วมงานกับองค์กรของคุณต่อไป และได้ทั้งภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรคุณ จนใคร ๆ ก็อยากที่จะมาร่วมงานกับองค์กรของคุณ
อันดับที่2
ผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ – มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนทำงานในบริษัทนั้น ๆ(คิดเป็น 20%)
อิทธิพลจากคนใกล้ตัว มักทรงพลังเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน จะสมัครอะไรก็ต้องถามจากคนใกล้ตัวเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน รุ่นพี่ ฯลฯ ขอแนะนำให้ฝ่าย HR ของแต่ละองค์กร ทำการสื่อสารภายใน ให้พนักงานช่วยชวนเพื่อนของตัวเองมาสมัครงานดูด้วยนะคะ รับรองว่าเวิร์ค
ผู้หางานที่มีประสบการณ์แล้ว – ได้ยินจากข่าว สื่อสังคม หรือบทความออนไลน์(คิดเป็น 20%)
คนเรามักหาความรู้เพิ่มเติมจากการอ่าน หรือเสพอะไรที่ตัวเองสนใจ เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ความสนใจของเราจะชัดเจนขึ้นในสายงานอาชีพ ดังนั้น ผู้หางานที่มีประสบการณ์มักจะสนใจหาบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพตัวเองมาอ่าน นี่ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่สามารถทำให้องค์กรของคุณเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีผลให้มีผู้หางานมาสมัครงานกับองค์กรของคุณเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อันดับที่3
ผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ – ได้ยินคนอื่นพูดต่อ ๆ กันมา(คิดเป็น 19%)
มีบ้างเช่นกัน ที่ผู้ที่เรียนจบใหม่ จะหาโอกาสจากการได้ยินมาแบบปากต่อปากจากผู้อื่น ในกรณีที่เป็นองค์กรใหญ่จริง ๆ หรือโด่งดังในวงการจนนักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาอาชีพนั้นรู้จัก สำหรับองค์กรระดับกลางลงไปหากได้มีการลองทำ Employer Branding ให้พนักงานช่วยบอกต่อแล้ว ผลตอบรับยังนิ่ง อาจต้องหันไปใช้กลยุทธ์อื่น เช่นลงประศในเวบไซต์สมัครงานน่าจะได้ผลกว่า
ผู้หางานที่มีประสบการณ์แล้ว – มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนทำงานในบริษัทนั้น ๆ(คิดเป็น 16%)
ในขณะที่ผู้มีประสบการณ์แล้ว จะได้รับรู้โอกาสเรื่องงานจากสมาชิกในครอบครัว และเพื่อน ๆ น้อยลงมาตามลำดับ เพราะผู้ที่มีประสบการณ์แล้วมักจะยึดเอาตามความถนัดในสายงานที่ตนสนใจเป็นสำคัญ จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เนื่องด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้นนั่นเอง
อันดับที่4
ผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ – ได้ยินจากข่าว สื่อสังคม หรือบทความออนไลน์(คิดเป็น 18%)
ผู้ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ที่ชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ก็มีโอกาสบ้างที่จะได้รับข่าวการสมัครงานจากข่าว สื่อสังคม หรือบทความออนไลน์ แต่อาจจะเป็นช่องทางที่ไม่ป็อปปูล่าร์นักสำหรับผู้ที่จบใหม่ เนื่องด้วยยังอาจไม่มีความสนใจจริงจังในสิ่งใดเป็นพิเศษ จึงยังมองไม่ออกว่า บทความหรือข่าวใดที่เกี่ยวข้องกับความสามารถ และโอกาสของตัวเองหรือไม่ อย่างไร
ผู้หางานที่มีประสบการณ์แล้ว - เข้าไปชมเวบไซต์งาน และเวบไซต์ของบริษัทนั้น ๆ(คิดเป็น 15%)
ผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว มักจะไม่ค่อยมีเวลา หรือโอกาสที่จะได้เข้าเวบไซต์หางาน หรือเข้าไปหางานจากเวบไซต์ของบริษัทด้วยตัวเอง รวมไปถึงอาจมีความเชื่อที่ว่า การสมัครงานผ่านทางคำบอกเล่าของเพื่อน หรือคนรู้จักจะทำให้รู้ insight และ inside ของคนในองค์กรนั้นๆมากกว่านั่นเอง
อันดับที่5
ใช้สินค้า หรือบริการของบริษัทนั้น ๆ อยู่(ผู้หางานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ คิดเป็น 9% และผู้หางานที่มีประสบการณ์แล้ว คิดเป็น 10%)
ทั้งผู้ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ และผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว ให้ค่าความสำคัญของประเด็นนี้เท่า ๆ กัน อยู่ในลำดับที่ 5 เดี๋ยวนี้คนเราให้ความใส่ใจกับ Brand experience มากขึ้น สิ่งที่แต่ละ Brand สื่อสารออกมา ไม่ว่าจะผ่านทางตัวสินค้าเอง กิจกรรมส่งเสริมทางการตลาด หรือแม้แต่พนักงานในองค์กร ต่างมีผลในสายตาคนนอกทั้งหมด สินค้าถือว่าเป็น touchpoint ที่สำคัญที่เดียว ดังนั้นถ้าสินค้าดี รักษาชื่อเสียงของแบรนด์ได้ดี ก็จะมีผลต่อการ Recruitment ด้วยเช่นกัน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ