สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจไม่น้อย บริษัทที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงาน ก็ทยอยเลย์ออฟพนักงานกันเป็นแถว ไม่พ้นความเครียดจะมารุมเร้าบรรดาคนทำงานตาดำ ๆ กลัวว่าจะเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ได้รับเงินก้อนไปตั้งตัวอย่างไม่เต็มใจสักเท่าไร แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตก็ยังต้องดำเนินไป วันนี้เรายังมีงานทำ ก็ต้องบริหารการงานกับชีวิตให้มีความสมดุล อย่ากังวลกับเรื่องงานมากเกินไปจนละเลยการดูแลตัวเอง
จากหนังสือ “หลากความคิด ชีวิตคนทำงาน 2” มีแนวคิดดี ๆ สำหรับคนทำงานมาฝากเพื่อเป็นแนวทางแห่งความสุขของชีวิตที่สมดุล
คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์-กวีนิพนธ์ กล่าวว่า คนทำงานต้องรู้ประจักษ์ ตระหนักในคุณค่างานของตน แม้เป็นเพียงงานเผาถ่านในคณะปฏิวัติ ที่คนมองว่าต่ำต้อย แต่หากมองว่า หน้าที่
ของเขา คือทำให้ถ่านทุกก้อน ที่ออกจากเตามีคุณภาพมากที่สุด แต่ละก้อนให้เชื้อไฟที่แดง และนานที่สุด ช่วยให้ข้าวเดือดเร็ว ข้าวสุกเร็วก็จะเลี้ยงคณะปฏิวัติได้เร็ว เมื่อคณะปฏิวัติอิ่มท้องแล้ว ก็ทำการปฏิวัติได้ เพราะฉะนั้น งานเผาถ่าน ก็เป็นงานปฏิวัติอย่างหนึ่ง
นี่คือคุณค่าของงาน อย่าไปเทียบงานต่ำงานสูง เพราะงานทุกงาน คือ งาน เปรียบได้กับเซลล์ในร่างกายของเรา รวมกันก็สามารถสร้างอีกชีวิตหนึ่งได้่
คุณโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทกลุ่มฟาร์มโชคชัยเล่าว่า การทำงานควรเริ่มต้นจาก “คิดแบบเด็กแล้วทำแบบผู้ใหญ่” คนเราคิดแบบผู้ใหญ่มันคงเป็นโลกน่าเบื่อ มองเห็นแต่หนี้สินและภาระ เพราะผู้ใหญ่ด้วยความที่มีประสบการณ์มากเกินไป “ความคิดสร้างสรรค์” อาจตกหล่นไปมาก หรือถ้ายิ่งคิดแบบผู้ใหญ่แล้วทำแบบเด็ก คือตีกรอบตัวเอง แต่ลงมือทำงานไม่มีระบบ ไม่มีวินัย ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ท้ายที่สุดก็เป็นการสร้างภาระหนี้สิน
แต่คิดแบบเด็กแล้วทำแบบผู้ใหญ่ คือคิดแบบมีจินตนาการ ไม่ต้องไปหลอกตัวเอง เด็กมีความได้เปรียบตรงที่เขาไม่เคยมีโอกาส มีประสบการณ์มาก่อน ความคิดของเขาจึงเต็มไปด้วยจินตนาการ เมื่อคิดแบบเด็กมี
จินตนาการแล้วลงมือทำแบบผู้ใหญ่ ทำอะไรให้ทำแบบมืออาชีพ มีวิธีการบริหารความเสี่ยง รู้จักทีมงาน รู้จักศักยภาพของเรา รู้จักตำแหน่งทางธุรกิจที่จะหาช่องทาง ได้เปรียบในมุมธุรกิจของเราได้
คุณวนิษา เรซ หรือ หนูดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง พูดเสมอว่า อย่าคิดว่าการดูแลสมองเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เพียงหายใจเข้าออกช้า ๆ 3 ครั้ง เป็นการปรับสมองเข้าสู่คลื่นที่ช้าลง ช่วยในการตั้งสติขับรถออกจากบ้านได้ปลอดภัยมากขึ้น
แม้แต่การยิ้ม ยิ้มแบบยกมุมปากขึ้นจะทำให้สมองมีการหลั่งสารแอนโดรฟินหรือสารเคมีแห่งความสุขออกมา ถ้ายิ้มอย่างนี้ 15 ครั้งจะทำให้อารมณ์เสียดีขึ้นได้ การจัดระบบในที่ทำงานให้สมองก็ช่วยได้ เช่น เรานั่งในที่ทำงานตลอด ให้ลุกเดินไปเดินมาด้วย เพิ่มออกซิเจนให้สมอง เลือกเพื่อนร่วมงานที่คิดเชิงบวก เพื่อป้อนความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้สมอง ใส่ใจที่จะออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีกับสุขภาพ รวมถึงมีเวลาพักนิ่ง ๆ สักครึ่งถึง
หนึ่งชั่วโมง ก่อนเข้านอน เท่านี้คุณก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
คุณเมธวิน อังคทะวานิช อดีตนักร้องที่ผันตัวเองมาเป็นโปรดิวเซอร์ จัดรายการและพิธีกรรายการโทรทัศน์ เล่าว่า เขาเคยเป็นคนทำงาน หามรุ่งหามค่ำแบบไม่สนใจใคร มองไปที่เป้าหมายสูงสุด คิดใหญ่ทำใหญ่ ไม่สนใจคนรอบข้าง สักพักหนึ่งเพื่อน ๆ ก็หายไป เพราะว่าไม่มีเวลาให้กับ เขา จุดนี้เขาคิดว่าตัวเองคิดผิดมาตลอด เพราะปัจจุบันรู้เลยว่า ความสุขใน ชีวิตของเรา ไม่ได้อยู่ที่งานสำเร็จอย่างเดียว แต่ความสุขในชีวิตอยู่ที่การทำงานแล้วมีความสุขต่างหาก คนเราต้องขยันจึงจะ ได้งานที่ดี มีคุณภาพ ในเรื่องของความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กับเพื่อนร่วมงานหรือแม้กระทั่งครอบครัวก็ต้องจัดให้สมดุล กันด้วย อย่าไปคิดเรื่องเงินเป็นหลัก อยากให้คิดถึงความสุขเป็นหลักมากกว่า
คุณชลพรรษา นารูลา ผู้ประกาศข่าว News Line ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ NBT และ Money Channel เล่าว่า จริง ๆ แล้วปัจจุบัน คนทำอาชีพไหนก็มักจะต้องทำงานหนักจนลืมให้เวลากับครอบครัว และลืมให้เวลากับตัวเอง อยากให้พยายามคำนึงถึงปัจจัยเรื่องสุขภาพ อย่าไปทำอะไรให้มันมากจนเกินไป หรือเกินกำลัง เพราะทำอะไรแบบนั้น นำมาซึ่งความเครียดตามด้วยโรคต่าง ๆ ผลัดกันมารุมเร้ามากมาย
คนเราให้เวลากับการกินน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง อยากให้คิดว่าถ้าเราสุขภาพดี เมื่อเราอายุมาก ก็ยังสามารถทำงานได้อีก และยาวนานขึ้น
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลากหลายความคิดข้างต้นจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำงาน ได้มีความคิดที่ลุ่มลึกในการทำงาน และการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จควบคู่กันไป