HR ไม่ได้เป็นแค่พนักงานคนหนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารองค์กร เพราะพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นคนที่ทำหน้าที่แทนพนักงานคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องสิทธิ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเอกสารที่จำเป็นของพนักงาน เรียกว่าเป็นหูเป็นตาให้กับองค์กร เพื่อเชื่อมโยงองค์กรและพนักงานให้ใกล้ชิดกัน
ความสำเร็จในการทำงาน ขององค์กรจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากองค์กรนั้น ๆ ขาด HR ซึ่งถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนหน่วยงาน การให้ความร่วมมือช่วยเหลือหน่วยงานในด้านต่าง ๆ ทำให้หน่วยงาน HR มีสถานะไม่ต่างไปจากยาสามัญประจำองค์กร ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีไว้ แต่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว การขับเคลื่อนขององค์กรอาจจะติดขัด พนักงานเองก็จะรู้สึกว่าเกิด อุปสรรคในการทำงาน เพราะขาดคนที่คอยช่วยเหลือจัดการเอกสารให้
HR เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันองค์กรให้เดินหน้าต่อไป เมื่อองค์กรประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นความสำเร็จของ HR ด้วย ถือเป็นการก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะบ่งบอกว่าทำไม HR จึงเป็นยาสามัญประจำองค์กรที่ใคร ๆ ต่างเรียกหา
ผู้ประสานงานขององค์กร
HR ถือเป็นคนกลางที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างองค์กรและพนักงาน ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้สื่อสาร แต่พนักงานฝ่ายบุคคลยังต้องช่วยสร้างความเข้าใจอันดี ไม่ได้จัดการเฉพาะงานเอกสารเท่านั้น เพราะต้องทำให้พนักงานเข้าใจในนโยบายขององค์กรได้เป็นอย่างดีด้วย องค์กรเองก็ต้องอาศัยเอชอาร์ให้ช่วยจัดการฝึกอบรมและ การเรียนรู้ของพนักงาน
ร่วมกันสร้างคนเก่ง
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า HR เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ของพนักงานให้กับองค์กร โดยจัดหาคอร์สฝึกอบรมที่จำเป็นต่อการทำงานของพนักงานในแต่ละส่วน ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไป ตามความต้องการของพนักงานในแต่ละแผนก คอยดูว่าพนักงานแผนกไหนต้องการฝึกอบรมอย่างไร เอชอาร์จึงมีหน้าที่ในการสร้างคนเก่งให้มีศักยภาพตามความต้องการขององค์กร
นอกจากนี้ HR ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนา ภาวะผู้นำ ให้กับพนักงานไปในคราวเดียวกัน เมื่อมีการฝึกอบรม พนักงานที่มีความพร้อมมากพอ ก็ได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลต่อ การพัฒนาองค์กร ในระยะยาวด้วย และยังทำให้พนักงานที่มีความสามารถ สามารถเลื่อนขั้นไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย
สร้างวัฒนธรรมองค์กร
องค์กรจำเป็นต้องมีจุดยึดเหนี่ยว หรือแนวปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติตาม เอชอาร์จึงมีหน้าที่ในการร่วมสร้างแนวคิดเหล่านั้น ให้ออกมาเป็น วัฒนธรรมองค์กร ที่โดดเด่น และมีลักษณะเฉพาะตัว โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ขัดกับนโยบายของบริษัท หรือปรับเปลี่ยนจากเหตุการณ์ แล้วสร้างกิจกรรมที่ทุกคนเห็นด้วย และปฏิบัติตามแนวทางนั้นได้
สร้างประสิทธิภาพในการบริหารบุคคล
การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงถือเป็นส่วนหนึ่งของงานบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเอชอาร์ต้องสร้างกรอบนี้ให้มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บุคคลในองค์กรได้รับการพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันกรอบของการทำงานแม้ว่าจะมีศักยภาพขนาดไหนก็ตาม แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับแนวทางการทำธุรกิจขององค์กร ไม่อย่างนั้นแล้ว จะทำให้ การพัฒนาบุคลากร กับการทำงานจะไม่สามารถดำเนินไปในทิศทางเดียวกันได้
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม งานพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ HR ไม่มีสูตรตายตัว สามารถปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามแนวทางขององค์กร โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่การขับเคลื่อนองค์กร ให้ไปสู่เป้าหมาย และประสบความสำเร็จให้มากที่สุด
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ