จริงหรือไม่ที่ งานที่มีความสุข คืองานที่ใช่? จากผลการสำรวจหัวข้อ “Happiness Meter” ที่บริษัท jobsDB ประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ปรากฏว่าความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและ การจ้างงาน ที่ดีขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน
รายงานดังกล่าวระบุว่า 48.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าค่อนข้างมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ และอีก 9.7% บอกว่า มีความสุขมากกับงาน ที่ทำอยู่
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คน มีความสุขกับงาน ของพวกเขา? คนที่ตอบว่า “ค่อนข้างมีความสุข” และ “มีความสุขมาก” กับงานของตัวเองบอกว่า ความพึงพอใจกับบทบาท หน้าที่การทำงาน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขามีความสุข อีก 25% บอกว่ามีความสุขกับงานจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ เพื่อนร่วมงาน และ หัวหน้างาน ในขณะที่ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เงินเดือน ที่พอใจทำให้พวกเขามีความสุข นอกจากนั้นเมื่อมองที่ตำแหน่งของการจ้างงานจะพบว่าทุกตำแหน่งงานให้ความเห็นตรงกันว่าความพึงพอใจกับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นเหตุผลแรก ๆ ที่ทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุข ส่วนคนทำงานระดับหัวหน้าบอกว่ามีความสุขกับค่าตอบแทนที่น่าพอใจ
ความสมดุลย์ของการใช้ชีวิตกับการทำงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับก็มีส่วนสนับสนุนชีวิตการทำงานของพนักงานไทยอีกด้วย
แต่รายงานฉบับนี้ระบุว่าพนักงานไทยส่วนใหญ่ตั้งใจทำงานกับองค์กรนั้น ๆ ประมาณ 3 ปีเป็นอย่างมาก โดย 38% ระบุว่าจะทำงานกับองค์กรของตัวเองอีกประมาณ 1 ถึง 3 ปี และอีก 27% บอกว่ากำลังมองหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับตัวเองภายในปีนี้
32% ของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในระดับหัวหน้างาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุงานประมาณ 1-4 ปีคิดเป็น 31% ของทั้งหมด และเป็นกลุ่มเพิ่งเริ่มทำงานประมาณ 9% นั่นหมายความว่าพนักงานจำนวนมากที่แม้ทำงานมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีรายได้หรือผลตอบแทนที่น่าพอใจในระดับหนึ่งก็มองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับหน้าที่การงานระยะสั้นของตัวเอง
ในขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 36% บอกว่าไม่ค่อยมีความสุขและอีก 6% ไม่มีความสุขเลยกับงานที่ทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีความสุขในการทำงานเลยส่วนใหญ่อยู่ในระดับบริหาร (44% ไม่ค่อยมีความสุข) และระดับหัวหน้างาน (43%)
ปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ ได้แก่ ความไม่พึงพอใจกับระบบขององค์กร พบว่ากระบวนการและระบบที่ไม่เอื้อให้พวกเขาทำงานได้ดีมาเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้ตอบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มหัวหน้างาน ผู้จัดการและผู้อำนวยการ ทั้งนี้ความไม่พึงพอใจกับเงินเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่มีความสุขกับการทำงาน กลับมาเป็นอันดับที่ 2 และเป็นสาเหตุหลักของพนักงานหรือผู้บริหารระดับต้น ๆ และ 16% ของคนที่ไม่มีความสุขกับงานตอบว่าพวกเขาไม่พอใจกับความรับผิดชอบและงานที่ทำอยู่
มีประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ว่างานดีกว่าเทียบได้กับการทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่? ผลการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งมีความสุขกับงานปัจจุบัน นอกเหนือจากนั้นมากกว่าครึ่งตอบว่ากำลังมองหางานที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงหนึ่งถึงสามปีจากนี้ ซึ่งคาดได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสุขกับงานปัจจุบัน ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ก็จะไม่รีรอหรือลังเลที่จะเปลี่ยนงานในทันทีที่พวกเขาไม่มีความสุขกับงานอีกแล้ว
พฤติกรรมลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงพนักงานที่มีความสุขกับงานได้ใช้โอกาสก้าวไปข้างหน้าและมุ่งไปสู่โอกาสที่ตอบโจทย์และให้ความพึงพอใจกับบทบาทการทำงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอย่างเหมาะสมและค่าตอบแทนที่พึงพอใจ
ปัจจัยต่าง ๆ ที่นำเสนอโดยรายงานจาก jobsDB ฉบับนี้น่าจะช่วยให้คนที่ไม่มีความสุขกับการทำงานได้นำแนวทางของผู้ที่พบ ความสุขกับการทำงาน ไปพิจารณาเพื่อค้นหาโอกาสต่าง ๆ ที่จะให้พวกเขาได้พบทั้งความสุขและงานที่ดีกว่าเดิม
รายงานHappy Meter โดย jobsDB ประเทศไทยจัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2558 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,452 คน เป็นผู้ตอบแบบสอบถามในฝ่ายบุคคลและธุรการ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายขายและบริการลูกค้า ฝ่ายพัฒนาธรุกิจ และฝ่ายการตลาด จากหลากหลายประเภทธุรกิจอาทิ ภาคบริการการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ การพาณิชย์และจัดส่งสินค้า โดยมีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 83 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือเป็นมาจากภาคกลางและภาคตะวันออก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ