ความในใจของผู้สมัครงานที่มีต่อผู้สัมภาษณ์งาน

ความในใจของผู้สมัครงานที่มีต่อผู้สัมภาษณ์งาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ไม่เฉพาะผู้สมัครงานเท่านั้นที่ต้องทำให้ HR ประทับใจในการสัมภาษณ์งาน HR เองก็ต้อง สร้างความประทับใจให้ผู้สมัครงาน เช่นกัน บ่อยครั้งที่ผู้สมัครเป็นฝ่ายไม่ประทับใจ และมีความในใจที่อยากบอกให้ผู้สัมภาษณ์รู้ถึงความรู้สึกของเขาว่าอะไรบ้างที่มักทำให้ผู้สมัครงานรับไม่ได้ และ HR ควรปรับปรุง

1. “เวลาของผู้สมัครงานก็มีค่าเหมือนกัน”

ปัญหาที่ผู้สมัครงานพบเสมอคือ ถูกปล่อยให้นั่งรอนานมาก เมื่อนัดผู้สมัครงานมาสัมภาษณ์งานแล้ว ผู้สัมภาษณ์ควรเคลียร์คิวให้ว่างเช่นกัน นึกถึงใจเขาใจเรา เรายังอยากให้ผู้สมัครงานมาตรงเวลาเลย ผู้สมัครก็อยากให้ผู้สัมภาษณ์ตรงเวลาเหมือนกัน บางบริษัทให้รอครึ่งค่อนวัน สัมภาษณ์เพียงไม่ถึง 10 นาที หรือบางที่บริหารเวลาไม่ดี ปล่อยให้ผู้สมัครรอเป็นชั่วโมงจึงจะได้สัมภาษณ์ หลังสัมภาษณ์ยังบอกให้ทำเทสต์ต่อ เสียดายเวลานั่งรอ และทำให้เกิดความรู้สึกไม่ประทับใจบริษัทอีกด้วย

2. “ช่วยอ่านเรซูเม่ก่อนเรียกมาสัมภาษณ์ด้วยนะคะ”

มีบริษัทจำนวนไม่น้อย ที่เรียกผู้สมัครงานมาสัมภาษณ์งาน โดยไม่ได้คัดกรองเรซูเม่เลยว่าคุณสมบัติตรงกับที่กำลังมองหาอยู่หรือไม่ ทำให้ผู้สมัครงานถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ไม่น่าให้อภัย เช่น รับเฉพาะผู้ชาย จบไม่ตรงสาย เกรดเฉลี่ยไม่ถึง รับบางสถาบันเท่านั้น ไม่มีประสบการณ์ด้านที่ต้องการมาก่อน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้สมัครงานให้ไว้แล้วในเรซูเม่ ถ้าไม่ตรงกับที่ต้องการก็ไม่ควรเรียกมาตั้งแต่ต้น

3. “อย่าทำแบบนี้กับใครอีกเลย”

บางบริษัทตอบรับผู้สมัครงานเข้าทำงานแล้ว นัดเซ็นสัญญา นัดวันเริ่มงาน ตกลงเงินเดือนและสวัสดิการกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ทำให้ผู้สมัครงานวางใจว่าได้งานใหม่แน่ ๆ จึงไปลาออกจากที่เก่าเรียบร้อย จู่ ๆ บริษัทโทรมาแจ้งว่ารับเข้าทำงานไม่ได้แล้ว อ้างไม่มีงบประมาณบ้าง ผู้บริหารไม่ยอมเซ็นอนุมัติบ้าง อย่าลอยแพผู้สมัครงานอย่างไร้ความรับผิดชอบเลย

4. “อย่าต่อเงินเดือนน่าเกลียดนัก”

ผู้สมัครงานที่ระบุเงินเดือนไว้ในเรซูเม่มีความคาดหวังว่าบริษัทที่เรียกเขาไปสัมภาษณ์งานจะยอมรับในอัตราเงินเดือนที่เขาเสนอไป หรือสามารถต่อรองได้นิดหน่อย ส่วนใหญ่แล้วการสัมภาษณ์เป็นไปด้วยดี จนถึงการเจรจาเรื่องเงินเดือน กลับถูกต่อเงินเดือนเสียต่ำเตี้ย น้อยกว่าเงินเดือนเดิมของผู้สมัครงานเสียอีก ทำให้ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ปฎิเสธ และรู้สึกเสียเวลากับการเดินทางมาสัมภาษณ์งานในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น หากบริษัทติดปัญหาเรื่องเงินเดือน ควรแจ้งผู้สมัครงานเสียก่อนตอนที่โทรไปนัดสัมภาษณ์ ว่าสามารถจ่ายได้ในช่วงเงินเดือนเท่าไร หากผู้สมัครงานตกลงค่อยนัดมาสัมภาษณ์ จะได้ไม่เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย

5. “ให้เกียรติกันหน่อย ผู้สมัครงานก็มีสิทธิ์เลือกเหมือนกัน”

HR ที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีอำนาจตัดสินชะตาชีวิตของผู้สมัครงานได้ จึงวางท่า พูดจาไม่ดี ไม่รักษาน้ำใจผู้สมัครงาน คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์เลือกอยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่คิดว่าผู้สมัครงานก็มีสิทธิ์เลือกเท่า ๆ กับคุณเหมือนกัน และบริษัทดี ๆ ก็ยังมีให้เลือกอีกมากเช่นกัน บริษัทอาจเสียโอกาสที่จะได้คนมีความสามารถมาร่วมงานด้วย เพียงเพราะผู้สมัครงานไม่ประทับใจผู้สัมภาษณ์งานก็เป็นได้

HR ก็เหมือนหน้าตาของบริษัท พฤติกรรมของ HR สะท้อนภาพลักษณ์ของบริษัทที่จะถูกบอกต่อในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้อยู่ที่การวางตัวของ HR เช่นกัน

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ข้อผิดพลาดที่ผู้สัมภาษณ์งานอาจไม่รู้ตัว

ดูแลพนักงานให้ดี ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน

More from this category: เรื่องเล่าธุรกิจ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา