เมื่อเราได้ยิน เพื่อนร่วมงาน บางคนพูดบางอย่างในออฟฟิศ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องซุบซิบนินทา หรือว่าร้ายเราโดยตรงก็ตาม เราจะรู้สึกว่าหากพูดด้วยคำพูดอย่างนี้ อย่าพูดออกมาเลยจะดีกว่า เพราะต้องมีบางคนที่ต้องเสียความรู้สึก เมื่อได้ยินคำพูดลักษณะนี้
คำพูดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะคำพูดที่ไม่ดีจะทำร้ายจิตใจเรา ทำให้เราเสียความรู้สึก ยิ่งเมื่อเป็นคำพูดของคนที่ต้องทำ งาน ร่วมกับเราด้วยแล้ว เรายิ่งไม่อยากได้ยินคำพูดร้าย ๆ ออกมาจากปากของเขา เพราะเราจะสูญเสียความเชื่อมั่น และความรู้สึกดี ๆ ที่เคยมี และในที่สุดเราจะไม่อยากทำงานกับเขา และในทางกลับกันหากเป็นเราที่พูดเรื่องที่ไม่ดี เพื่อนร่วมงานก็จะรู้สึกไม่ดีกับเราเช่นกัน
เราต้องมีความระมัดระวังในการใช้คำพูดให้มาก อย่าให้คำพูดของเราต้องไปทำร้ายใคร เพราะนั่นเท่ากับว่าเราจะไม่สามารถทำงานร่วมกับใครได้ ไม่มีใครเห็นความสำคัญของเรา เพื่อนร่วมงานบางคนจะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่น่าคบหา อีกทั้งคำพูดของเราได้ทำร้ายจิตใจเขา ลองมาดูกันว่ามีคำพูดแบบไหนบ้างที่ต้องคิดให้ดีก่อนพูด หรือไม่พูดเสียเลยจะดีกว่า
พูดโดยไม่ยั้งคิด
บางคนพูดบางสิ่งบางอย่างออกไปโดยไม่ได้คิดให้ดีว่าจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง บางคนพูดเพราะเป็นความเคยชิน คิดว่าเราเคยพูดแบบนี้กับอีกคนหนึ่งแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่ลืมคิดไปว่าแต่ละคนนั้นมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น การเตือนเมื่อเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาด แต่ใช้คำพูดที่รุนแรงเกินไป คนฟังก็จะเกิดความเสียใจได้ บางคนรับได้กับสิ่งที่เราพูด แต่บางคนรู้สึกว่าเขาไม่ควรจะได้ยินเรื่องอย่างนี้ แม้ว่าเขาจะทำงานผิดพลาดมากขนาดไหนก็ตาม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันนี้ในการทำงานในออฟฟิศ เราต้องคิดให้มากขึ้นก่อนที่จะพูดอะไร อย่างน้อยให้คิดสักนิดว่าไม่มีใครอยากได้ยินเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่ทำร้ายจิตใจ เราเองก็เช่นเดียวกัน หากไม่อยากได้ยินคำพูดแบบไหนจากคนอื่น เราก็ไม่ควรพูดสิ่งนั้นออกมา
ทำให้รู้สึกอับอาย
บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ระหว่างเจตนาดีและความประสงค์ร้าย หัวหน้างาน หรือรุ่นพี่บางคนอาจจะเผลอใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ พนักงานใหม่ โดยไม่รู้ตัว เช่น เราอาจจะใช้คำพูดอย่างนี้ เมื่อพนักงานใหม่ไม่ได้เรียนรู้ได้ไวอย่างที่เราตั้งความหวังไว “ทำไมถึงทำงานพลาดบ่อยจัง ตั้งใจทำงานบ้างหรือเปล่า” เจตนาที่แท้จริงของเราอาจจะแค่ถาม แต่คนที่ฟังจะรู้สึกไปแล้วว่ากำลังถูกเราตำหนิ หรือถูกทำให้รู้สึกอับอาย จนหมด กำลังใจในการทำงาน ไปเลยก็ได้ เราควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำพูดเช่นนี้ เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่รักแล้ว ยังจะทำให้เกิด อุปสรรคในการทำงาน ได้ เพื่อนร่วมงานจะรู้สึกว่าถ้าเลือกได้ เขาจะไม่ทำงานกับเรา
ไม่รักษาน้ำใจ
คงไม่มีใครอยากเป็น เพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี แต่บางครั้งเราก็เผลอทำให้เพื่อนร่วมงานของเรารู้สึกไม่ดี ด้วยการใช้คำพูดที่ไม่เห็นแก่หน้า ไม่รักษาน้ำใจเพื่อนร่วมงาน เช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานทำงานได้ไม่ดี เราอาจเผลอพูดไปว่า “เดี๋ยวทำเองดีกว่า” แม้ว่าจะไม่คำพูดใดที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ แต่คนฟังจะรับรู้ได้ว่าผลงานของเขาไม่เป็นที่น่าพอใจ คำพูดเช่นนี้ไม่เพียงทำร้ายจิตใจ แต่ยังทำลายมิตรภาพดี ๆ ในที่ทำงานด้วย การปฏิเสธความปรารถนาดีของเพื่อนร่วมงาน จะส่งผลต่อ การทำงาน ในระยะยาว ถ้าหลีกเลี่ยงก็ไม่ควรใช้คำพูดที่จะทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
คำพูดบางคำที่เราเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว อาจจะทำให้ผู้ฟังเสียความรู้สึกได้ ดังนั้น ก่อนที่เราจะพูด เราต้องคิดให้ดีเสียก่อน อย่าเผลอทำร้ายจิตใจเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว การกล่าวคำขอโทษ อาจฟังดูเหมือนการแก้ตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าเราพูดจารุนแรงเกินกว่าเหตุ การขอโทษแล้วปรับความเข้าใจกัน จะช่วยให้สถานการณ์ดูเบาบางลง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ