จัดเต็ม! คำศัพท์วงการโฆษณาที่ต้องรู้

จัดเต็ม! คำศัพท์วงการโฆษณาที่ต้องรู้
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ก้าวแรกการทำงานกับเอเจนซี่โฆษณาของคนที่ ไม่มีประสบการณ์ มาก่อน นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะการทำงานที่ได้ร่ำเรียนมาแล้ว ยังมีคำศัพท์พื้นฐานที่ควรรู้มากมายนอกเหนือจากในตำรา ส่วนคนที่ไม่ได้จบด้านโฆษณาหรือการตลาดมาโดยตรง แต่อยากทำงานในวงการนี้ ก็ควรศึกษาศัพท์เหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเป็นไปอย่างราบรื่น และเรียนรู้งานได้เร็วขึ้นด้วย มาดูไปพร้อมๆ กันดีกว่า

1. Pitching

Pitching คือคำที่คนวงการเอเจนซี่โฆษณาใช้กันบ่อยที่สุด ถ้าเราแปลกันตรงๆ “Pitch หมายถึงคำพูดหรือการกระทำโน้มน้าวใจผู้ฟังให้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามที่เราต้องการ เพราะฉะนั้น Pitching ในวงการเอเจนซี่ก็คือการเสนอโปรเจคงาน ไอเดียทางธุรกิจ หรือผลงานของบริษัทให้กับนักลงทุนเพื่อร่วมงานกันหรือซื้อไอเดียของเรานั่นเอง ในการ Pitching แต่ละครั้ง จะมีทีมจากเอเจนซี่ เช่น AE, Creative Director, Planner หรืออาจจะมี Copywriter ร่วมนำเสนองานด้วย ระยะเวลาในการ Pitching อาจใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที และอีก 2-3 นาที สำหรับการตอบคำถามของลูกค้า ดังนั้นผู้นำเสนอต้องมีทักษะในการพูดเพื่อดึงดูดผู้ฟังให้สนใจในระยะเวลาจำกัด บางแบรนด์อาจเปิดโอกาสให้เอเจนซี่หลายๆ แห่ง Pitch งานแข่งกัน ใครที่นำเสนอได้ตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์ ก็จะได้ร่วมงานกันในที่สุด

2. Mock UP

การสร้างแบบจำลองงานที่จะช่วยให้ฝ่ายเอเจนซี่กับฝ่ายแบรนด์เห็นภาพและเข้าใจงานได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจร่วมงานกัน Mock Up อาจจะอยู่ในรูปแบบของภาพนิ่ง วิดีโอ หรือ Presentation ก็ได้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขหลายรอบจนกว่าลูกค้าจะพอใจ ส่วนฝ่ายเอเจนซี่ก็นำข้อคิดเห็นจากลูกค้ามาปรับปรุงให้เป็นผลงานที่สมบูรณ์และเผยแพร่ได้จริง

3. Landing Page

Landing Page หรือบางครั้งเรียกว่า Lead Capture Page คือหน้าเว็บเพจที่ปรากฏหลังจากคลิกโฆษณา ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำแคมเปญการตลาดดิจิทัล การสร้างหน้า Landing Page ที่ดีต้องกำหนดจุดประสงค์เพียงอย่าใดอย่างหนึ่ง เช่น อยากเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม อยากให้คนเข้ามาซื้อสินค้า หรือลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ฯลฯ โดยในหน้า Landing Page ต้องมีปุ่ม Call To Action ที่ชัดเจน มีเนื้อหาที่สั้นใจได้ความ อ่านแล้วเข้าใจและทำตามได้ทันที

4. CTA (Call To Action)

CTA ย่อมาจาก Call To Action คือปุ่มหรือป้ายต่างๆ ที่อยู่บนอาร์ตเวิร์ก มีจุดประสงค์ให้เกิดการกระทำบางอย่างเมื่อคลิกปุ่มนั้นๆ เช่น Buy Now, See More, Subscribe หรือคลิกไปยังหน้าว็บไซต์หลัก เป็นต้น ฝ่ายที่รับผิดชอบสร้าง CTA ก็คือกราฟฟิกดีไซนเนอร์ ที่จะดีไซน์ปุ่มต่างๆ ให้สะดุดตา และกลมกลืนไปกับอาร์ตเวิร์ก ส่วนฝ่าย Copywriter จะมีหน้าที่คิดคำที่สั้น กระชับ อ่านแล้วน่าคลิกตาม

5. Lead Generation

คือการสร้างรายชื่อผู้ติดต่อที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและมีแนวโน้มสนใจสินค้าหรือบริการของแบรนด์ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคต เมื่อแบรนด์ได้รายชื่อและช่องทางการติดต่อมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการสร้างความสัมพันธ์โดยใช้ Email- Marketing เพื่อนำเสนอสินค้าและโปรโมชั่นต่างๆ ต่อยอดไปสู่การขาย เปลี่ยนผู้ติดตามให้กลายเป็นลูกค้าให้ได้จำนวนมากที่สุด

6. GDN (Google Display Network)

Google Display Network หรือ Google Content Network คือการลงโฆษณาบนเว็บไซต์ที่เป็นพันธมิตรกับ Google รูปแบบของโฆษณา GDN มีอยู่ 4 ประเภทคือ 1) โฆษณาแบบข้อความสั้นๆ มีหัวข้อ เนื้อหาและลิงค์ รวมกันแล้วไม่เกิน 3 บรรทัด 2) รูปภาพหรือแบนเนอร์ ประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก 3) โฆษณาแบบรูปภาพ Animation และ 4) โฆษณาแบบวิดีโอที่สามารถเล่นได้เองอัตโนมัติ

7. Re-Targeting

เคยมั้ย เวลาเข้าเว็บไซต์จองที่พักโรงแรม พอทำการจองเสร็จเรียบร้อย เมื่อกลับมาเล่นเฟซบุ๊กหรือเข้าเว็บไซต์อื่นๆ ต่อ ก็เจอโฆษณาเว็บไซต์ที่พักอีกแล้ว นี่คือเครื่องมือทางการตลาดที่เรียกว่า Re-Targeting หรือ Re-Marketing เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความสนใจ อยากกลับเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการบนเว็บไซต์อยู่เรื่อยๆ เมื่อลูกค้าไปใช้บริการเว็บไซต์อื่น ก็จะยังเห็นโฆษณาหรือโปรโมชั่นใหม่ๆ ของแบรนด์เหมือนเดิม

8. Content Marketing

Content Marketing คือการทำการตลาดผ่านเนื้อหา เพื่อดึงดูดผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้จดจำแบรนด์ สินค้า หรือบริการของเราได้ โดย Content ต้องมีความน่าสนใจและมีคุณค่า เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอย่างมหาศาล ช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากคนที่แค่รู้จักแบรนด์ ได้กลายมาเป็นลูกค้าชั้นยอด ซึ่งรูปแบบ Content Marketing ที่ไ่ด้รับความนิยมมีทั้งบทความบนเว็บเพจ, Podcast, วิดีโอ หรือภาพ Infographics ที่สรุปข้อมูลยากๆ ในเรื่องของสถิติและตัวเลขออกมาเป็นรูปภาพพร้อมข้อความที่ดูแล้วเข้าใจง่าย

9. SEM (Search Engine Marketing)

เป็นรูปแบบการตลาดบนเว็บไซต์ Search Engine ที่เราคุ้นเคยกัน เช่น Google, Yahoo, Bing เพื่อให้บริการของเราเป็นที่รู้จักหรือพบเห็นได้บ่อยๆ สมมติว่าเราอยากได้กล้อง DSLR เราก็เข้าไปที่หน้า Google แล้วพิมพ์คำค้นหาสำคัญ (Keyword) เช่น กล้อง DSLR รุ่นใหม่, เปรียบเทียบราคากล้อง DSLR, โปรโมชั่นกล้อง ฯลฯ จากนั้น Google จะแสดงผลลัพธ์การค้นหาที่ตรงกับ Keyword ที่เราต้องการ ซึ่งผลลัพธ์ที่เราเห็นอยู่บนหน้าแรกๆ ก็มาจากการทำการตลาด SEM ทำให้คนเจอเว็บไซต์ในระบบ Search Engine มากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการ การทำการตลาดแบบ SEM สามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการสร้าง SEO Content ที่มี Keyword ถูกค้นหามากที่สุดและปรับแต่งเว็บไซต์ให้น่าสนใจจนติดอันดับต้นๆ ของ Search Engine และวิธีที่สองคือ PPC (Pay Per Click) การซื้อโฆษณาโดยมีการเรียกเก็บเงินในรูปแบบจ่ายตามจำนวนคลิก เป็นวิธีที่เห็นผลเร็วที่สุด สามารถเห็นโฆษนาได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาและสามารถเพิ่ม Keyword ได้ตลอดเวลา

10. SEO (Search Engine Optimization)

SEO เป็นกระบวนการหนึ่งของการทำการตลาด SEM เพื่อให้เว็บไซต์ขึ้นไปอยู่บนหน้าแรกหรือในอันดับต้นๆ ของเว็บ Search engine ช่วยให้คนเข้ามาชมเว็บไซต์และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ซึ่ง SEO จะแตกต่างจาก SEM ตรงที่เราสามารถทำเองได้ด้วยการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ มีการใช้ Keyword สำคัญและแทรกลงไปตามส่วนต่างๆ บนเว็บไซต์ในแต่ละหน้า จะช่วยให้ Google สามารถเก็บข้อมูลเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เว็บไซต์ติดอันดับแรกๆ ในหน้าการค้นหานั่นเอง

11. Influencer

Influencer คือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ เช่น Blogger, Celebrity หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างๆ อย่างการท่องเที่ยว ออกกำลังกาย แต่งหน้า ฯลฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีผู้ติดตาม (Followers) จำนวนหลักพันไปจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนเชื่อถือได้ ความแตกต่างของของการทำการตลาด Influencer บนโซเชียลมีเดียที่เหนือกว่าการจ้างดาราดังๆ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็คือความใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย ที่มีการโต้ตอบและพูดคุยอยู่เสมอ ทำให้ผู้ติดตามเข้าถึงได้ง่ายและรู้สึกคล้อยตามสิ่งที่ Influencer นำเสนอ ทั้งนี้เราสามารถแบ่งประเภทของ Influencer ได้ 3 กลุ่ม โดยวัดจากจำนวนผู้ติดตาม (Followers) และอิทธิพลโน้มน้าวทางความคิด (Influencing Power) ประกอบไปด้วย 1) Micro Influencer มีอิทธิพลมากที่สุด เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 1M Followers ขึ้นไป 2) Mid-level Influencer มีอิทธิพลระดับกลาง มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 100K - 1M และสุดท้าย 3) Macro Influencer มีผู้ติดตามอยู่ที่หลัก 5K - 100K แม้จะดูมีอิทธพลน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่กำลังเป็นเป็นที่ต้องการของแบรนด์ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคเหมือนเป็นเพื่อน ที่ปรึกษา ให้ความรู้สึกที่เป็นกันเอง


ได้คำศัพท์น่ารู้ไปพอสมควรแล้ว พยายามทำความเข้าใจและหาความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนร่วมงานให้มากๆ แล้วอย่าลืมเรื่องกิริยามารยาท การปฏิบัติตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรด้วยนะ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้ไม่แพ้ทักษะการทำงานเลยjobsDBขอให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงานแรกนะ

#ให้ก้าวแรกของการทำงานกำหนดเส้นทางชีวิตคุณ
#jobsDB

ลงทะเบียนสมัครงาน

หางานได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน application บนมือถือจากjobsDBทั้ง iOS และ Android โหลดเลย

More from this category: เทรนด์งานยอดฮิตและเงินเดือน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา