เมื่อคุณมีความจำเป็นต้องการใช้เงิน ซื้อข้าวของที่ราคาค่อนข้างสูง เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่มีเงินก้อนมากพอ เหลียวซ้ายแลขวาก็แล้ว ยังไม่รู้จะหาหยิบยืมจากใครที่ไหนคงต้องพึ่งระบบเงินกู้ดูสักครั้ง แต่ก่อนที่จะกู้เงินควรคิดไตร่ตรองให้ดีก่อน โดยต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อไปนี้
- ถามตัวเองอีกครั้งว่าจำเป็นต้อง กู้เงินจริงๆ หรือ ถ้าไม่ได้ของสิ่งนั้นจะมีผลต่อชีวิตคุณมากแค่ไหน บางทีคุณอาจพบว่า สิ่งนั้นจำเป็น แต่ถ้าไม่ได้ตอนนี้ก็ไม่เป็นไร รอเวลาอีกสักหน่อยคุณอาจจะหาเงินได้โดยไม่ต้องกู้ยืม ซึ่งจะทำให้คุณไม่ต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงจรหนี้โดยไม่จำเป็น
- แต่หากคิดถี่ถ้วนแล้วยังไงก็ต้องกู้สถานเดียว ควรเลือกสถาบัน การเงิน ที่ น่าเชื่อถือ เป็นเงินกู้ในระบบที่มีหน่วยงานของรัฐควบคุม ไม่ให้สถาบันเหล่านี้เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป ขอเตือนไว้อย่างหนึ่งว่า ไม่ควรเลือกกู้เงินนอกระบบ ถ้าไม่อยากถูกฟันดอกเบี้ย หรือค่าปรับแบบหาได้เท่าไหร่ก็ไม่พอใช้หนี้ หรือถูก ทวงหนี้ แบบหฤโหดตามที่เป็นข่าวเป็นคราวอยู่บ่อยๆ เพราะเดี๋ยวนี้การอนุมัติ เงินกู้ ของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างเมื่อก่อนแล้ว เป็นหนี้ทั้งทีเป็นหนี้ในระบบสบายใจกว่า
- ที นี้ก็ถึงขั้นตอนการเลือกว่าจะกู้ที่ไหนดี ให้ดูเงื่อนไขการผ่อนชำระของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง โดยเปรียบเทียบในระยะเวลาการผ่อนชำระที่เท่ากัน ลองดูว่ามีเงื่อนไขพิเศษ อะไรบ้างที่น่าสนใจ เช่น ปลอดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำๆ ในปีแรก (ถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มกำลังสูงขึ้น แล้วได้อัตราดอกเบี้ยคงที่จะดีกว่า ในทางกลับกันถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง การได้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะดีกว่า)
ซึ่งปกติแล้วระบบการกู้และการ คิดดอกเบี้ยของสิ่งต่างๆ จะไม่เหมือนกัน เงินกู้ซื้อรถ หรือข้าวของเครื่องใช้จะมีวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ ดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่อนชำระ แต่ถ้ากู้เงินซื้อบ้านจะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบอายุ หรือ เงินต้นหมด ซึ่งถ้าเรามีเงินก้อนก็สามารถโปะได้ เมื่อเงินต้นลด ดอกเบี้ยก็จะลดตามเงินต้นที่เหลือ ซึ่งจะลดภาระค่าบ้านโดยรวมลงไปด้วย
แต่หากต้องการกู้แบบสินเชื่อ ส่วนบุคคล ที่อนุมัติทันใจ ได้เงินไว ต้องดูให้ดี พวกนี้มักคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน กู้นิดเดียวบางทีใช้หนี้กันเป็นปีก็มี
- นอกจากนี้เรื่องดอกเบี้ยแล้ว ต้องไม่ลืมดูเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าต้องผิดนัดชำระจะเสียค่าปรับ ค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง เผื่อว่าพลาดพลั้งส่งค่างวดไม่ทัน ดันมาเจอค่าปรับอีกบานตะไท ทำเอาจ่ายไม่หวาดไหว ของที่ซื้อมาจะถูกยึดไปเสียง่ายๆ
- ได้ข้อมูลพร้อมแล้ว ก็กลับมาประเมินตนเองว่ามีเงินพอที่จะผ่อนชำระแต่ละงวดใช่หรือไม่ ถ้ามีไม่พอก็คงต้องต่อรองเพื่อเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้นอีก ให้ตกลงกันจนได้เงื่อนไขที่เรายอมรับได้ และไม่ยากลำบากที่จะผ่อนชำระ เพื่อที่ว่าคุณจะได้ไม่ต้องมีความสุขเพราะได้ในสิ่งที่อยากได้ แต่ต้องเป็นทุกข์เพราะวันๆ เอาแต่หนีเจ้าหนี้อยู่ร่ำไป
แต่ถ้าจะให้ดี หาหนทางที่ไม่ต้องเป็นหนี้จะดีกว่า ด้วยการวางแผนการเงินเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีเงินใช้ในยามฉุกเฉิน ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินโดยไม่จำเป็น