การจะทำให้ งาน ต่าง ๆ บรรลุผลตามที่กำหนดไว้ ต้องอาศัย"คน"เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบงานต่างๆ ผู้บริหาร จึงต้องรู้จักวีธี “ บริหารคน ” เพื่อให้ “องค์กร” และ “บุคลากร” เติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างมั่นคง
เมื่อวันก่อนได้อ่านบทความหนึ่ง ซึ่งให้ข้อคิดที่น่าสนใจสำหรับผู้บริหารเกี่ยวกับผู้บริหาร 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นผู้บริหารที่บริหารลูกน้องแบบ “เพื่อนร่วมงาน”กับอีกประเภทเป็นผู้บริหารที่บริหารลูกน้องแบบ “บ่าวรับใช้”ฟังดูก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ถ้าหากเราเป็นผู้บริหาร เราควรจะบริหารลูกน้องแบบไหน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในสังคมคนทำงานของไทยปัจจุบันผู้บริหารจำนวนมากยังคงบริหารลูกน้องแบบ “บ่าวรับใช้” อยู่นั่นเอง การ “บริหารคน” จึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้บริหาร
ผู้บริหารบางคนเป็นนายประเภท “หลงตนเอง” จึงบริหารลูกน้องให้เป็น “บ่าวรับใช้”คือ เขาจะไม่ต้องการให้ลูกน้องคิด หรือทำงานเก่งจนเกินไป เพราะถ้าเก่งจนเกินไปจะปกครองยาก ลูกน้องมีหน้าที่ทำงานตามสั่งเท่านั้น
ถ้าลูกน้องคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือวิธีการของตน ลูกน้องคนนั้นก็จะเป็น"หมาหัวเน่า"ที่นายจะไม่สนใจ เพื่อนร่วมงาน คนอื่นๆ ก็จะไม่กล้าสุงสิงกับลูกน้องคนนั้นเพราะกลัวจะถูกมองไม่ดีไปด้วย
หากลูกน้องทนไม่ไหว ลาออก นายก็จะพูดกับคนอื่นๆ ว่าลูกน้องคนนั้นแย่มาก ไม่อดทนในการทำงาน ชอบเถียงและเกี่ยงงาน ทำงานที่ไหนก็ไม่เจริญ เวลาตามงานจากลูกน้องจะใจร้อน เร่ง"จะจิก"และ"จับผิด"มากกว่าจะเข้าไปรับรู้ปัญหา และช่วยแก้ไข
หากลูกน้อง (ที่ไม่เห็นด้วย) ทำงานไม่ได้ตามกำหนด ก็จะยิ่งถูกซ้ำเติม
ลูกน้องของนายประเภทนี้สมองจะฝ่อ เพราะไม่อยากคิดริเริ่มอะไร ให้นายสั่งดีกว่า เพราะหากผิดพลาดนายก็รับไป
ผู้บริหารประเภทนี้จึงมีแต่ลูกน้องที่ทำงานในเชิง"ประจบสอพลอ" "ยกยอ ปอปั้น"หรือทำงานตามสั่ง ประเภท"นายว่า ขี้ข้าพลอย"นายเสนอหรือคิดเรื่องใด โครงการใด ลูกน้องจะเห็นดีเห็นงามด้วยตลอด ผู้บริหารก็จะหลงใหล และยิ่งหลงในอำนาจมากขึ้นไปอีก เพราะคิดว่าทำอะไรก็ถูกไปหมด
องค์กรไหนที่มีผู้บริหารประเภทนี้ นับวันก็จะยิ่งล้าหลัง เพราะไม่ส่งเสริมคนดี มีความสามารถ สุดท้ายจึงเหลือแต่พวกคิดไม่เป็นอยู่เต็มบริษัท
ต่างกับองค์กรที่บริหารลูกน้องให้เป็น "เพื่อนร่วมงาน"ที่ดี มีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน
ผู้บริหารที่ดี จะมีวิธีการทำให้ลูกน้องปรับตัว ปรับความรู้สึกเป็น เพื่อนร่วมงาน ด้วยการประชุม อธิบาย ชี้แจง เป้าหมายของงานที่จะทำร่วมกัน จากนั้น ให้ลูกน้องทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นและหาวิธีการทำงานเพื่อให้งานบรรลุผล
ยินดีรับฟังข้อเสนอต่าง ๆ น้อมรับคำตำหนิที่สร้างสรรค์ อธิบายถึงเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ ว่า ทำไมไม่เห็นด้วยกับวิธีการหรือแนวทางที่ลูกน้องนำเสนอ
สนใจสภาพความเป็นไป สภาพความเป็นอยู่ อารมณ์ ความรู้สึกของลูกน้องแต่ละคน และจะพยายามเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือภายในขอบเขตที่พอจะช่วยได้ ขณะเดียวกัน เขาจะติดตามงานต่าง ๆ จากลูกน้อง หากคนใดทำงานติดขัดหรือทำไม่ได้ เขาจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ
กระตุ้นให้ลูกน้องกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด วิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการทำงานที่กำหนดไว้ โดยจะยินดีรับฟังความคิดเห็นหรือวิธีการทำงานที่แตกต่างจากเขา
มีวิธีการพูดและติดตามงานในเชิงบวกมากกว่า"การจิก"หรือ"กัดไม่ปล่อย"หรือเพื่อการล้างแค้น เขาจะไม่ติดตามงานในเชิงดูถูกหรือ"จับผิด"
ผู้บริหารประเภทนี้ จะเป็นที่รัก เคารพ นับถือของลูกน้อง เพราะเขาจะทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกว่า"นาย"ของเขา แม้จะเป็นนายตามตำแหน่ง แต่เป็น"เพื่อนร่วมงาน"ในสำนักงานที่น่าเคารพยกย่องมากกว่าความเป็นนาย
บ้านเมืองของเราเลิกปกครองคนแบบนายกับบ่าว เจ้ากับข้ามาตั้งนานนมแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยน ความคิดและวิธีการทำงานของคนทำงานก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย"การบริหารคน"ภายใต้การบังคับบัญชาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่บริหารลูกน้องให้เป็น"เพื่อนร่วมงาน"จึงเป็น นักบริหาร คุณภาพตัวจริงที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ที่มา : ผู้จัดการรายสัปดาห์
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ