ถาม-ตอบ ประกันสังคมกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตร

ถาม-ตอบ ประกันสังคมกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตร
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

การจะมีลูกสักคนสมัยนี้ใช้เงินเยอะไม่ใช่เล่น การได้ความช่วยเหลือจากประกันสังคมตามสิทธิของเรานั้นคงจะสามารถลดภาระของคุณแม่ทั้งหลายไปได้มาก ดังนั้นผู้ประกันตนอย่างเราควรศึกษาข้อมูลเอาไว้บ้างเพื่อจะได้ลดความตึงเครียดในการบริหารค่าใช้จ่ายและทำให้มีเวลาดูแลลูกน้อยของคุณได้อย่างเต็มที่ค่ะ นอกจากคุณแม่แล้ว คุณพ่อทั้งหลายก็สามารถศึกษาข้อมูลในการใช้สิทธิได้เช่นกันนะคะ

1. เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร มีอะไรบ้าง

ตอบ :1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ

  1. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
  2. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด สำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
  3. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกันตน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก (กรุงไทย กรุงศรีฯ ธนชาต กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย  ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซีไอเอ็มบีไทย)

2. ต้องทำอย่างไรจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชย

ตอบ:หากเป็นกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตรจึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้  หากเป็นกรณีเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน

3. สามารถยื่นเรื่องย้อนหลังเพื่อรับเงินค่าเหมาจ่ายทำคลอดและเงินสงเคราะห์บุตรได้หรือไม่

ตอบ:สำหรับสิทธิเบิกค่าคลอดเหมาจ่าย ผู้ประกันตนสามารถเบิกสิทธิได้หากยื่นเรื่องภายในเวลา 1 ปีนับจากวันที่บุตรเกิด แต่สำหรับสิทธิสงเคราะห์บุตร หากผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนภายในระยะเวลา 36 เดือนที่ผ่านมา สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ โดยเตรียมสูติบัตรบุตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัญชีธนาคาร ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและสั่งจ่ายสิทธิผ่านบัญชีธนาคารของท่านได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไข

4. สามารถเบิกประกันสังคมได้ทั้งฝั่งสามีและภรรยาได้เลยหรือไม่

ตอบ:กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่เกิน 4 ครั้ง* โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อบุตร 1 คน

(*ได้รับสิทธิไม่จำกัดจำนวนครั้งตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ต.ค.2558) ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรสามารถยื่นได้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝั่งเดียวค่ะ

5. ถ้าสามีเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่ตัวเองเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะเบิกได้ทั้งคู่ไหม

ตอบ:เบิกได้แต่จะต้องเลือกเบิกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามเกณฑ์ข้อกำหนด

6. หากจดทะเบียนแล้วแต่ไม่อยู่กับสามี แต่อยู่กับแฟนอีกคนหนึ่งหากท้องกับแฟนสามารถเบิกได้ไหมคะ

ตอบ:สามารถใช้สิทธิของตนเองเบิกได้ค่ะ

7. หากฝั่งภรรยาไม่มีเอกสารใดๆแม้แต่บัตรประชาชนจะสามารถเบิกได้หรือไม่ จะเบิกกับทางฝั่งสามีได้อย่างไร

ตอบ:สำหรับการเบิก ผู้ประกันตนจะต้องมีหลักฐาน ในการยื่นเรื่องให้ครบตามหลักเกณท์  หากจะเบิกกับฝั่งสามีก็เช่นกัน คือต้องมีหลักฐานครบตามเกณฑ์จึงจะเบิกได้ค่ะ

8. ผู้ประกันตนตามมาตรา39มีสิทธิเบิกเกี่ยวกับการคลอดและเงินสงเคราะห์บุตรหรือไม่

ตอบ:มีสิทธิในการเบิกหากผู้ประกันตนมาตรา 39 มีการนำส่งเงินสมทบ  กรณีคลอดบุตร ครบ 7 เดือนภายใน 15 เดือน และมีการนำส่งเงินสมทบค่ากรณีสงเคราะห์บุตร 12 เดือนภาย ใน 36 เดือน

9. เบิกเงินค่าคลอดบุตรได้เท่าไร

ตอบ:เบิกได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้งเป็นแบบเหมาจ่าย

10. ถ้าได้รับเงินค่าคลอดเหมาจ่าย 13,000 บาทแล้วจะยังได้รับเงินที่เกิดจากการหยุดงานอีกด้วยไหม

ตอบ:สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน

11. กรณีลูกแฝดจะเบิกเงินค่าทำคลอดได้เท่าไหร่

ตอบ:เนื่องจากค่าทำคลอดเหมาจ่ายคิดเป็นต่อครั้ง จึงยังได้ครั้งละ 13,000 บาทตามปกติค่ะ

12. ถ้าตอนคลอดเรานอนห้องพิเศษจะสามารถเบิกกับประกันสังคมได้หรือไม่

ตอบ:เนื่องจากค่าทำคลอดเหมาจ่ายคิดเป็นต่อครั้ง จึงยังได้ครั้งละ 13,000 บาทตามปกติค่ะ

13. ต้องสำรองจ่ายเองก่อนไหม ในกรณีคลอดที่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิประกันสังคมอยู่

ตอบ:ผู้ประกันตนสามารถฝากครรภ์และคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามบัตรฯโดยต้องจ่ายค่าคลอดไปก่อน และจึงทำเรื่องเบิกที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ จังหวัดหรือสาขาที่สะดวก โดยมีเอกสารประกอบคือแบบสปส.2-01 สูติบัตรตัวจริงพร้อมสำเนา สำเนาบัตรประชาชน

14. ขาดส่งประกันสังคมมา 6 เดือนแต่ก่อนหน้านี้เคยส่งมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี จะยังได้สิทธิค่าคลอดบุตรไหม

ตอบ:ขึ้นอยู่กับการนำส่งเงินสมทบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตรจึงจะมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้

15. ถ้ายื่นเรื่องและได้รับหนังสือตอบรับการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินอย่างไร

ตอบ :หากเป็นเงินเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตร จะได้รับตามที่ยื่นเรื่องไว้ (เงินสด/เช็ค ธนาณัติ หรือโอนผ่านบัญชี) หากเป็นกรณีเงินสงเคราะห์บุตร จะได้รับเงินผ่านการโอนเข้าบัญชีตามที่ได้แจ้งไว้

16. จะเริ่มได้รับเงินเดือนไหน ตั้งแต่เดือนที่ลูกเกิดเลยหรือไม่

ตอบ:ใช่ค่ะ

17. การนับอายุบุตรนับแบบไหน เช่น หากบุตรอายุครบ 6 ปี วันที่ 15 ตค. ในเดือน ตค.จะยังได้รับเงินเต็มจำนวนหรือไม่

ตอบ:ยังควรได้รับเงินเต็มจำนวนในเดือนที่บุตรอายุครบ 6 ปีค่ะ

18. เงินสงเคราะห์บุตร จะเข้าบัญชีทุกวันที่เท่าไหร่

ตอบ:โดยทั่วไปแล้วจะได้รับทุกสิ้นเดือนค่ะ แต่หากมีตรงกับวันหยุดอาจจะมีการเลื่อนออกไปบ้างเล็กน้อย

19. หากเงินสงเคราะห์บุตรไม่เข้าบัญชีควรทำอย่างไร

ตอบ :หากปกติเคยได้รับเงินทุกเดือน แต่อยู่ดีๆ ก็ไม่ได้รับเงินเข้าบัญชีตามที่ควรจะได้ เช่นบุตรยังอายุไม่ถึง 6 ปี กรุณาติดต่อประกันสังคมสาขาที่เคยยื่นเรื่องไว้ หรือโทรสอบถามกับสายด่วนประกันสังคม 1506 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลให้อีกครั้งค่ะ

20. ในกรณีที่เคยได้รับเงินสงเคราะห์บุตร แล้วออกจากงานเลยขาดส่งเงินประกันสังคมไประยะหนึ่ง ตอนนี้กลับมาทำงานแล้วส่งเงินใหม่อีกรอบไม่ทราบว่าจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอีกหรือไม่ และต้องทำอย่างไรบ้าง

ตอบ:ผู้ประกันตนจะมีสิทธิเมื่อได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อผู้ประกันตนได้เข้างานใหม่ และได้รับสิทธิสงเคราะห์บุตรยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไข ขอให้ติดต่อ และสำเนาบัตรประชาชน ที่สำนักงานประกันสังคมที่ได้เคยยื่นเรื่องไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกสิทธิต่อเนื่องต่อไป

21. หากเกิดการแท้งหรือคลอดแล้ว ลูกเสียชีวิต จะสามารถเบิกได้หรือไม่ เนื่องจากมีการสำรองจ่ายเงินไปแล้ว แล้วยังจะสามารถได้รับเงินจากการลาคลอดไม่เกิน90วันได้อยู่หรือไม่

ตอบ:หากผู้ประกันตนแท้งบุตร อายุครรภ์ ประมาณ 28 สัปดาห์ แต่บุตรจะต้องออกจากครรภ์มารดา สามารถเบิกค่าคลอด และเบิกกรณีทดแทนการหยุดงานค่าคลอดบุตรได้ อย่างไรก็ตามควรติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งค่ะ

22. ถ้าลาออกจากงานแล้วจะยังมีสิทธิไหม

ตอบ:สิทธิจะเกิดเมื่อหากเป็นกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตรจึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ หากเป็นกรณีเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน

23. ในกรณีไม่จดทะเบียนสมรส ต้องทำอย่างไรถึงจะได้สิทธิ

ตอบ:กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ สามารถตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันตนหรือไม่ แต่หากเป็นกรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อบิดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้อง ตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันหรือไม่ และตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของคู่ สมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ประกันตนตามทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสหรือไม่

24. หากลาคลอดก่อนวันคลอดจริงแต่ไม่เกิน 90 วันจะยังได้รับสิทธินี้หรือไม่

ตอบ:ถ้าคุณคลอดบุตรแล้ว และมีสิทธิเบิกค่าคลอดได้ โดยฝ่ายหญิงเป็นผู้เบิก เงินชดเชยนี้ก็ย่อมได้ด้วยเป็นแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน

25. ถ้าลาคลอดไม่ถึง 90 วันจะได้รับเงินเต็ม 90 วันหรือไม่

ตอบ:เนื่องจากเงินชดเชยนี้เป็นแบบเหมาจ่ายจึงสามารถมีสิทธิได้รับเต็มจำนวนค่ะ

26. ถ้าได้เงินครบ 90 วันจากทั้งนายจ้างและประกันสังคมไปแล้วแต่กลับมาทำงานก่อน 90 วันจะต้องคืนเงินหรือไม่

ตอบ:เนื่องจากเงินชดเชยนี้เป็นแบบเหมาจ่ายจึงไม่จำเป็นต้องส่งคืนประกันสังคม แต่สำหรับฝั่งนายจ้างอาจจะต้องติดต่อสอบถามกับนายจ้างโดยตรงอีกครั้ง

27. ที่ทำงานจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ให้แค่30วัน ผิดกฏหมายหรือไม่

ตอบ:อาจต้องดูจำนวนวันที่คุณหยุดจริงประกอบด้วย โดยปกติกฏหมายแรงงานจะกำหนดให้จ่าย 50 % ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันค่ะ

28. กรณีคลอดก่อน 20 ตค 2558 และเป็นบุตรคนที่ 3 โดยที่ยังไม่เคยใช้สิทธิประกันสังคมกับบุตร 2 คนก่อนหน้ามาก่อน สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

ตอบ:ถ้าเป็นกรณีสงเคราะห์บุตร แล้วบุตรสองคนแรกไม่ได้ใช้สิทธิ คนที่ 3 สามารถใช้ได้ค่ะ อย่างไรก็ตามหากบุตรคนที่ 1 หรือ 2 อายุยังไม่ถึง 6 ปี ยังสามารถมายื่นเรื่องให้ครบ 2 คนได้ ตามพรบ.ฉบับเดิม เงินสงเคราะห์บุตรจ่ายครั้งหนึ่งคราวละไม่เกิน 2 คน ส่วนบุตรคนที่ 3  สามารถยื่นเรื่องหลังวันที่ 20 ตค 2558 ได้เพราะตามพรบ.ใหม่ สิทธิประโยชน์จะเพิ่มเป็นจ่ายให้คราวละไม่เกิน 3 คนค่ะ

29. ผู้ประกันตนชาวต่างชาติมีสิทธิเบิกเกี่ยวกับการคลอดและเงินสงเคราะห์บุตรหรือไม่

ตอบ:ผู้ประกันตนชาวต่างชาติ ถ้ามีการนำส่งเงินสมทบครบหลักเกณท์ สามารถเบิกค่าคลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรได้ค่ะ

30. เป็นผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 7 เดือน จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ในการคลอดบุตรได้หรือไม่

ตอบ:ได้  โดยขอหนังสือรับรองว่าส่งเงินสมทบไม่ครบ 7 เดือนจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่  แล้วไปติดต่อขอรับบริการที่ รพ.รัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่อาจจะต้องเช็คสิทธิอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันสามารถใช้สิทธิการคลอดบุตรได้ 2 ครั้งค่ะ

31. การยื่นเรื่องย้อนหลังจะทำให้ได้เงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลังด้วยหรือไม่

ตอบ:ถ้าคุณมีการจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือนภายใน 36 เดือนอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าที่บุตรคุณคลอด ทางประกันสังคมก็จะจ่ายนับตั้งแต่เงินสมทบครบ 12 เดือน โดยจะมีการย้อนจ่ายของเดือนเก่าให้หากคุณเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรมาตั้งแต่ต้น

32. หากส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขแล้ว แต่หลังจากลาคลอดเสร็จได้ตัดสนใจลาออกมาเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน จะยังได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจนลูกอายุครบ6ปีหรือไม่

ตอบ:หากคุณเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อก็จะได้สิทธิค่ะ อย่างไรก็ตามแนะนำให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมที่เคยยื่นเรื่องไว้เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งค่ะ

อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันสังคม ควรติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้คุณหรือติดต่อสายด่วน 1506 เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดอีกครั้งค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไขข้อข้องใจสิทธิประกันสังคม ค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร

ท้องแรกต้องรู้ สิทธิประโยชน์สำหรับว่าที่คุณแม่

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา