เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสติดตามข่าวในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา คงรู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่งว่าตัวเลขของบัณฑิตตกงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่น่าคิดว่า...เพราะเหตุใดการพากเพียรเล่าเรียนจนจบปริญญาถึงไม่ช่วยให้บัณฑิตใหม่ก้าวเข้าสู่สายอาชีพได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทั้งที่ตลาดแรงงานก็ยังคงต้องการบุคลากรอีกมากมายมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตก้าวไปข้างหน้า
เมื่อแนวโน้มและทิศทางของโลกก้าวมาสู่จุดเปลี่ยน อย่างในบ้านเราที่เห็นได้ชัดก็คือ การก้าวเข้าสู่ยุค AEC ที่เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น มีการพูดถึงสาขาวิชาชีพหลักที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีในภูมิภาค ได้แก่ งานวิศวกรรม งานพยาบาล งานสถาปัตยกรรม นักสำรวจ งานบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ และ งานการบริการ/ การท่องเที่ยว trend นี้บอกอะไร...เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มของอาชีพที่สอดรับกับกระแสของโลก ก็คืออาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ต้องฉลาดที่สุด ไม่ต้องรู้ลงลึกในทฤษฎีอย่างนักวิชาการ แต่ให้เก่งในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ก็จะตอบโจทย์ของตลาดแรงงานได้อย่างตรงประเด็นที่สุด
มาดูกันว่าอาชีพอะไรที่ตลาดแรงงานต้องการ ตัวเราต้องมีทักษะด้านไหนจึงจะไม่ตกงาน พร้อมเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพได้อย่างทันที
1. งานช่างฝีมือ และ งานช่างเทคนิค ทุกสาขาโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างโยธา โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญจริง ๆ ไม่ใช่แค่แรงงานขั้นต้น แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Technician) นับเป็นสายวิชาชีพที่บ้านเรายังขาดแคลนในเกือบทุกสาขา เพราะต้องเรียนจบจากสายอาชีวะโดยตรง ซึ่งไม่ตรงกับค่านิยมของคนส่วนใหญ่ แถมยังเป็นอาชีพที่ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก คนทั่วไปจึงให้ความสนใจน้อย แต่เชื่อเถอะว่าอุปสงค์มีมากกว่าอุปทานอย่างนี้ ช่างฝีมือดี ๆ ย่อมเป็นที่ต้องการตัวของหลาย ๆ องค์กรอย่างแน่นอน
2. งานวิศวกรรม เป็นอีกสาขาอาชีพที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ต่างต้องการบุคลากรสายนี้เข้ามาทำงานด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิศวกรด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องกล เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุม ทดสอบ เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม รวมไปถึงการติดตั้ง การผลิต และการซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมแบบใด ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ก็ยังขาดแคลนบุคลากรสายวิชาชีพนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
3. งานพัฒนาซอฟต์แวร์ งานวิเคราะห์ข้อมูลไอทีนับเป็นอาชีพแห่งยุคโลกาภิวัตน์ คนที่จบด้านพัฒนาระบบไอที หรือสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ย่อมได้เปรียบมาแรงแซงทางโค้งทุกอาชีพ เพราะทุกองค์กรในยุคปัจจุบันต่างต้องพึ่งพาระบบไอทีและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในการทำงานอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้มารองรับด้วยเช่นกัน
4. งานบัญชี อีกหนึ่งสายงานที่อยู่ยั้งยืนยงมั่นคงมาได้ทุกยุคสมัย เพราะองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธการทำบัญชีได้อย่างแน่นอน เปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ ว่า แม้แต่ธุรกิจที่กำลังจะปิดตัว คนที่จะถูกเลิกจ้างเป็นคนสุดท้ายก็คือนักบัญชี คนที่จะประกอบอาชีพด้านนี้จำเป็นต้องมีความรู้และเรียนจบมาเฉพาะทาง และในปัจจุบันนักบัญชีที่จะเติบโตในสายงานได้ดียังต้องมีองค์ความรู้ด้านภาษาที่ 2 และ 3 ด้วย เพราะธุรกิจในบ้านเรามีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น การมีความรู้ด้านภาษาจึงเป็นข้อได้เปรียบ สร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยอัพเงินเดือนให้สูงขึ้นเป็นลำดับ
5. บุคลากรในธุรกิจโลจิสติกส์เมื่อโลกยุคปัจจุบันถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยกัน การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ งานขนส่ง จึงมีบทบาทมากขึ้น ทั้งการเคลื่อนย้าย การขนส่ง ตลอดจนการบริหารจัดการสินค้าและบริการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างครบวงจร “โลจิสติกส์” จึงเป็น keyword สำคัญของการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อรองรับการเติบโตด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศในยุคไร้พรมแดน
6. บุคลากรในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสุขภาพและสปาสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นทุกปี และมีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่ธุรกิจ สปาและนวดเพื่อสุขภาพก็เติบโตสอดรับกับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ บุคลากรที่มีทักษะในด้านการดูแลสุขภาพจึงสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจที่ขยายตัวและมีศักยภาพการแข่งขันในอนาคต
7. บุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยวและบริการที่กำลังเติบโตและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ภาครัฐจึงให้การสนับสนุนและผลักดันกลุ่มอาชีพนี้เป็นอย่างมาก และภาคธุรกิจเองก็ต้องการคนมีทักษะด้านภาษา รักงานบริการ สนใจด้านการโรงแรม และชื่นชอบการท่องเที่ยว ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาบัณฑิตล้นงาน ในขณะที่หลาย ๆ ตำแหน่งงานกลับยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญอีกเป็นจำนวนมาก จะลดน้อยลงไป หากเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างแรงงานและความต้องการของตลาดกันให้มากขึ้น ก้าวให้ทันกระแส พัฒนาศักยภาพของตนเองให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเสริมจุดเด่นด้วยความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือภาษาอาเซียน รวมไปถึงมีทักษะพื้นฐานด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโซเชียลมีเดีย พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา
ถ้ารู้ตัวแล้วว่าเรามีศักยภาพ เป็นบุคลากรในสายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ ชีวิตก็ไม่ยากอีกต่อไป และให้ jobsDB เป็นตัวช่วยที่ดีในการค้นหางานที่ต้องการ ได้ทำงานในองค์กรที่ใฝ่ฝัน โดยให้ตัวเราเป็นผู้เลือกงานที่ใช่ เลือกที่จะมีชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เรียนสายอาชีพดีต่อใจ…ให้โอกาสสู่ความสำเร็จ
จบมหาวิทยาลัยไหน หรือเกรดเฉลี่ยสูงก็ไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ฝึกงาน