ตำแหน่งพนักงานธนาคาร หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า งานแบงค์ ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่เด็กจบใหม่หลายคนใฝ่ฝันอยากเข้ามาอยู่ในสายงานนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการทำงานธนาคารเป็นสิ่งที่ความมั่นคงสูง มีอัตราการเติบโตสูง สามารถก้าวหน้าเติบโต เลื่อนไปสู่ตำแหน่งสูงๆ ได้จนเกษียณอายุงาน แถมยังดูมีหน้ามีตาทางสังคม เพราะแต่ละสถาบันการเงิน ก็ล้วนดูน่าเชื่อถือและมีความนิยมในประเทศด้วยกันแทบทั้งสิ้น
ทำงานแบงค์
อีกทั้งในยุคนี้ ความหลากหลายในตำแหน่งพนักงานธนาคาร มีให้เลือกสมัครงานมากกว่าสมัยก่อนเยอะพอสมควร ซึ่งในยุคนี้บางตำแหน่งแทบไม่ต้องการคนที่เรียนจบสายตรงทางด้านการเงินการธนาคาร การบัญชีแล้วด้วย แต่ก็สามารถสมัครงานในธนาคารได้ในตำแหน่งที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลงานธนาคารในยุคนี้เป็นที่ต้องการของเด็กจบใหม่และหางานมากขึ้นกว่าเดิม
ข้อมูลจาก Laws of Attraction ผลสำรวจจาก จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) พบว่าแม้งานในสายธนาคารจะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ไม่สูงนัก อยู่ในเรตประมาณ 15,000-30,000 บาท แต่ก็มีความก้าวหน้าในสายอาชีพค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะมีการกระจายตัวของระดับตำแหน่งค่อนข้างดี เริ่มจากระดับเด็กจบใหม่ที่ 26.8% พนักงานระดับเจ้าหน้าที่ 25.6% พนักงานระดับกลาง 22.6% จนไปถึงผู้บริหารระดับสูง 17.9% แถมยังไม่ต้องกังวลใจเรื่องการ Early Retire ก่อนเวลาด้วย เพราะช่วงอายุนั้นกระจายตัวตั้งแต่ Gen-Z 27.4% ไปสู่ Gen-Y 39.7% และ Gen-X 32.9%
นั่นแสดงให้เห็นว่างานสายธนาคารนั้นสามารถรองรับการทำงานของคนในทุกๆ Gen ได้เป็นอย่างดี และไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น โดยหากเปรียบเทียบกับสายงานโฆษณาแล้ว พบว่ามีการจ้างงานกระจุกตัวที่ Gen-Y ถึง 42.5% ขณะที่ Gen-X ต่ำเพียง 27% เท่านั้น
ด้วยความที่งานธนาคารคืองานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ที่คอยให้บริการประชาชนและลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องของการเงินทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับฝาก-ถอนเงิน การบริการด้านการจัดทำรายการประจำวันเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน การให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ประกันชีวิต ประกันภัย บัตรเครดิต รวมไปถึงการวางแผนและวิเคราะห์ด้านการเงิน และอีกหลาย ๆ ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของการเงิน จึงทำให้หลายคนมองว่าการทำงานธนาคารถือเป็นสายงานที่มีความมั่นคงค่อนข้างสูง
เนื่องจากเป็นเรื่องราวของเงินๆ ทองๆ ภาพลักษณ์จึงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ ดังนั้นภาพจำของคนที่ทำงานแบงค์ จึงต้องเป็นคนที่ดูภูมิฐาน น่าเชื่อถือ และไว้ใจได้ เพราะมีหน้าที่ที่ต้องดูแลให้คำแนะนำเรื่องการเงินของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานประจำสาขาที่ต้องพบปะลูกค้าเป็นประจำ ก็ต้องเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี สวมชุดแบบฟอร์มสุภาพ ดูสวยงาม เพื่อให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนอยากทำงานธนาคาร เพื่อเป็นการช่วยเสริมโปรไฟล์และบุคลิกในการทำงาน
สำหรับการทำงานธนาคารนั้น ส่วนใหญ่จะต้องเป็นคนที่เรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจ (สาขาการเงินและการธนาคาร สาขาการวางแผนการเงินและการลงทุน), คณะเศรษฐศาสตร์ (สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน) หรือคณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการธนาคาร เช่น คณะวิทยาการจัดการ (สาขาการเงินและการธนาคาร), คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิศวกรรรมการเงิน) หรือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น ซึ่งหากผู้สมัครเรียนจบจากคณะที่กล่าวไปโดยตรง ก็ถือเป็นการนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมานำมาใช้กับการทำงานได้อย่างตรงจุดที่สุด
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ในปัจจุบันนี้การทำงานสายธนาคารเปิดกว้างและหลากหลายมายิ่งขึ้น เพราะมีตำแหน่งต่างๆ ในสถาบันการเงินที่เปิดรับมากมาย ซึ่งบางตำแหน่งก็ไม่จำเป็นต้งอใช้ความรู้ด้านการเงินโดยตรง ดังนั้นคนที่เรียนจบจากคณะหรือสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน แต่อยากทำงานแบงค์ ก็สามารถยื่นใบสมัครได้เช่นกัน เพียงแค่ต้องศึกษาจากประกาศสมัครงานให้ดีนิดหนึ่งว่ารายละเอียดงานนั้นตรงกับทักษะที่เรามีมากน้อยเพียงใด
ลองมาดูกันถึงคุณสมบัติคร่าวๆ ของพนักงานธนาคารกันบ้างว่ามีจุดไหนที่ผู้สมัครต้องเตรียมตัวกันบ้าง เราลองทำเช็คลิสต์มาให้ดูกันแล้ว
- มีทักษะและความรู้ที่ตรงกับตำแหน่งงาน
- มีความคล่องแคล่ว สามารถจัดการข้อมูลของงานได้อย่างเป็นระเบียบ
- มีความละเอียดรอบคอบ มี Service Mind รักในการบริการ
- ขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน และรับแรงกดดันได้ดี
- บุคลิกภาพดี มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ
- เป็นคนที่สื่อสารได้ดี มีความรู้ด้านภาษา และเป็นคนสุภาพ
พูดถึงคุณสมบัติคร่าวๆ ที่พนักงานแบงค์ควรมีกันไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูทักษะและความรู้เพิ่มเติมกันดีกว่า โดยตรงนี้จะเป็นการแนะนำแบบรวมๆ ในทุกตำแหน่งของสายงานนี้ ซึ่งบางตำแหน่งอาจจะต้องการทักษะที่แตกต่างกันออกไป
- ทักษะการฟังที่ดี เพราะต้องสื่อสารกับลูกค้าให้แม่นยำและตรงจุด
- ทักษะการพูดก็ต้องเป๊ะ ในการอธิบายเรื่องการเงินหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ลูกค้าเข้าใจ
- มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์
- สามารถประยุกต์ข้อมูลได้หลากหลาย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
- กระบวนการความคิดที่ถี่ถ้วนและมีวิจารญาณ
- ทักษะการเขียน สามารถใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลัก
- สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้า พร้อมแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้
- มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชัน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
- มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน บัญชีรายรับ-รายจ่าย
ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าการทำงานในสถาบันการเงิน ไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินๆ ทองๆ เสมอไป แต่ยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องใช้ความรู้และทักษะที่หลากหลายเช่นกัน ทีนี้ลองมาดูกันว่า ตำแหน่งงานที่หลากหลายนี้ มีอะไรบ้าง
หน้าที่หลักๆ จะเป็นงานเกี่ยวกับบริการเปิด-บัญชีเงินฝากแก่ลูกค้า ผสานกับงานบริการด้านการเงินทั่วๆ ไป วางแผนและวิเคราะห์เรื่องเงินให้แก่ลูกค้าที่มาติดต่อที่ธนาคาร การบริหารเงินทุน นำเสนอผลิตภัณฑ์ โดยผู้ที่ทำสายงานนี้ ต้องมี Service Mind พอสมควร เพราะต้องพบปะกับลูกค้าเป็นประจำ และต้องเป็นคนที่สามารถให้คำแนะนำได้ดี เช่น ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนการบริการ หรือที่ปรึกษาวางแผนการเงิน เป็นต้น
ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงบริการด้านประกันภัย ประกันชีวิต พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ลูกค้าว่าการลงทุนครั้งนี้ ลูกค้าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ผสานกับการวิเคราะห์ลงทุน ดังนั้นตำแหน่งงานสายนี้ จึงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับการลงทุนพอสมควร อีกทั้งยังมีการศึกษาสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อนำมาวิเคราะห์กับแผนการลงทุนของลูกค้า เพื่อให้เขาได้รับประโยชนสูงสุด เช่น ตำแหน่งเจ้าหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน
อีกสายงานแบงค์ที่หลายคนคุ้นเคยกันอย่างดี ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของผู้ที่มาขอกู้เงินกับธนาคารนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำบัตรเครดิต การขอสินเชื่อบุคคล กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นต้น โดยตำแหน่งที่ว่านี้ ได้แก่ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ หรือ SME Relationship Manager เป็นต้น
สำหรับสายงานเหล่านี้ จริงๆ แล้วถือเป็นว่าที่ต้องการในทุกๆ อุตสาหกรรม รวมไปถึงงานธนาคารที่มีการพัฒนาและขยายงานเพื่อนขานรับยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคนที่มีทักษะด้านนี้จึงสามารถทำงานในแบงค์ได้เช่นกัน เพื่อสนับสนุนงานและผลิตภัณฑ์ของทางสถาบันการเงิน เช่น เจ้าหน้าที่การตลาดดิจิทัล เจ้าหน้าที่ด้านไอทีหรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น
แต่หากพูดถึงงานแบงค์แล้ว หลายคนจะต้องนึกถึงพนักงานที่ให้บริการตามสาขาก่อนเป็นอันดับแรก เราเลยลองแตกย่อยข้อมูลของพนักงานธนาคารมาให้ได้ดูกันด้วย ว่าหน้าที่ของพนักงานธนาคารประจำสาขาใน 1 วัน เขาทำอะไรกันบ้าง
- บริการธุรกรรมธนาคารต่าง ๆ เช่น เปิด-ปิดบัญชี ฝาก ถอน โอน จ่าย
- บริการทำบัตรเครดิต/เดบิต จำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล และให้บริการสินเชื่อต่าง ๆ
- จัดทำธุรกรรมทางการเงินประจำวันของธนาคารในแต่ละสาขา
- ให้การดูแล พร้อมติดตามบัญชีหนี้สินของลูกค้า
- ให้คำปรึกษาด้านการเงินแบบครบวงจรแก่ลูกค้า เช่น การออม การลงทุน การกู้ยืม
แม้ว่าจริงๆ แล้วในยุคนี้ การทำงานธนาคารจะเปิดกว้างต้อนรับคนที่ไม่ได้เรียนจบเกี่ยวกับการเงินอย่างเดียวแล้วก็ตาม แต่ผู้สมัครก็ควรมีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนอยู่บ้าง นอกจากนั้นก็ต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่ตรงกับตำแหน่งที่สมัคร ตามมาด้วยเรื่องราวของภาพลักษณ์ ที่ต้องมีบุคลิกภาพดี ดูน่าเชื่อถือ เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ลูกค้าจะให้ความไว้วางใจแก่สถาบันการเงินต่างๆ เด็กจบใหม่คนไหนที่มีความฝันอยากทำงานแบงค์ บอกเลยว่าไม่อย่างยากที่คิด ขอแค่มีความตั้งใจ รับรองประสบความสำเร็จแน่นอน
ส่วนใครที่กำลังมองหางานแบงค์ดีๆ หรืออยากเปลี่ยนงานใหม่ สามารถเข้ามาหางานที่โดนใจคุณใน JobsDB แล้วคลิกเลือกงานธนาคารได้เลย รับรองว่ามีงานดีๆ รออยู่เพียบ!
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%b2%e0%b8%a3/