การทำธุรกิจหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดนั้น หากสินค้าได้รับความนิยม ฮอตฮิตติดตลาดแล้วล่ะก็ อีกไม่นานเกิน 3 เดือน ก็จะมีพวกหัวใส ทำของเลียนแบบออกมาขายแข่งกับคุณเพราะเหตุนี้ผู้บริหารที่มุ่งมุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำหรือรักษาตำแหน่งผู้นำของอุตสาหกรรมไว้จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนอย่างสม่ำเสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาสินค้าก็คือ วงจรชีวิตของสินค้าเองที่ต้องเปลี่ยน ให้ทันโลกทันสมัย อย่างโทรทัศน์ เมื่อก่อนมีโทรทัศน์ขาวดำ ต่อมาก็พัฒนาเป็นโทรทัศน์สี จาก จอนูนเปลี่ยนมาเป็นจอแบน จนในปัจจุบันต้องเป็นจอ LCD เท่านั้นถึงจะอินเทรนด์ จะมามัวดูโทรทัศน์รุ่นเก่าอยู่ก็จะกลายเป็นหลังเขาไป
การแข่งขันของผู้ประกอบการจึงอยู่ที่การเป็นผู้นำตลาด ใครออกตัวได้แรงกว่า เร็วกว่า มีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่น โดนใจ และรองรับการใช้งานในอนาคตได้
อันนั้นถึงจะได้เปรียบ ที่สำคัญการจะได้กำไรก็ต้องเริ่มต้นที่งานบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าออกมาด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด เทคโนโลยีในยุคนี้เป็นของแพง ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น การมีเทคโนโลยีของตัวเองจะช่วยให้ต้นทุนถูกลง แถมยัง พัฒนาต่อยอดได้ ช่วยเพิ่มผลผลิต และช่วยให้บริษัทเอาตัวรอดท่ามกลางสภาวะ ความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ หากเป็น ธุรกิจที่ต้องการขยายการเติบโตในภูมิภาค ต้องออกแรงมากกว่าที่เคย ยิ่งต้องอาศัย R&D เพื่อปูทางเดินที่มั่นคงเพื่อการรุก ตลาด ให้ได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี องค์กรจำเป็นต้องทำ R&D หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบขององค์กรด้วยว่า องค์กรของคุณเป็นธุรกิจลักษณะใด ถ้าธุรกิจของคุณจะต้อง แข่งขันในด้าน เทคโนโลยีสูง ก็ควรจะต้องมี R&D เป็นของตัวเอง เพราะ R&D ที่มีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเพื่อต่อยอดธุรกิจ และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้ง ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปนั้นอาจส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมให้กับองค์กร ทั้งด้านการผลิต หรือการปฏิบัติการก็ตาม และที่สำคัญคือ เมื่อมี R&D เองแล้วควรจะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องให้ความสนใจกับแผนก R&D ของตัวเองให้มาก เพื่อที่จะสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ก่อน คู่แข่งอื่น ๆ
แต่ถ้าองค์กรไม่ใหญ่ ผู้บริหารอาจต้องมองถึงความจำเป็นขององค์กร ว่าการพัฒนา R&D ซึ่งมีต้นทุนสูงนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งอาจพบว่าการหยิบเอางาน ที่สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยมีการวิจัยมาแล้ว เอามา พัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาสินค้าให้เหมาะกับความต้องการ ของผู้บริโภคที่ตนรู้จักดี น่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่จะลงทุนทำการวิจัย ด้วยตัวเอง หรืออาจจะใช้วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามาเลยก็จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าสำหรับองค์กรที่ไม่ใหญ่นัก
รู้อย่างนี้แล้ว ผู้บริหารต้องวางกลยุทธ์ให้ดีและเหมาะสมกับขนาดองค์กรและความจำเป็นขององค์กร ประเมิน และวิเคราะห์ความคุ้มค่าให้ดี ว่าจะลงทุนทำ R&D ด้วยตนเองหรือไม่ บางทีการต่อยอดจากสิ่งที่คนอื่นทำมาแล้ว ก็ทำให้คุณเป็นผู้นำได้โดยไม่ต้องลงทุนทำอะไรเองตั้งแต่แรกก็ได้