เมษายน 2561- จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) รายงานดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทย พบ 3 ปัจจัยสร้างความสุขให้แก่พนักงาน ได้แก่ สถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวกและทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทย จำนวน 1,108 คน ในปี 2560 พบ 60% ของคนไทยมีความสุขกับการทำงานโดยค่าเฉลี่ยของคะแนนดัชนีความสุขคิดเป็น 4.55 คะแนน น้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2559 แต่สอดคล้องกับแนวโน้มของดัชนีความสุขในการทำงานอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ลดลงเหลือ 4.51 คะแนน โดย 5 สายงานที่มีความสุขในการทำงานสูงสุดในปี 2560 ได้แก่ งานบริหาร (4.95 คะแนน), งานธุรการและทรัพยากรบุคคล (4.94 คะแนน), งานวิศวกรรม (4.86 คะแนน), งานไอที (4.74 คะแนน) และงานขนส่ง (4.73 คะแนน) ตามลำดับ
เมื่อเทียบระดับความสุขของพนักงานในอีก 6 ประเทศที่ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้ คือ ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย พบว่าพนักงานไทยมีระดับความสุขเป็นอันดับที่ 5 (ปีก่อนได้อันดับ 3) รองจาก อินโดนีเซีย (5.27) เวียดนาม (5.19) ฟิลิปปินส์ (4.97) และมาเลเซีย (4.65) รั้งท้ายด้วย ฮ่องกง (4.45) และสิงคโปร์ (4.31)
รายงานยังเผยให้เห็นว่าเด็กจบใหม่ หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 1 ปี มีความสุขในการทำงานน้อยที่สุด โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.35 คะแนน ด้านเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทั่วไปที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 - 4 ปี มีความสุขในการทำงานน้อยสุดเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.45 คะแนน ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมีความสุขในการทำงานมากที่สุดคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.19 คะแนน ตามด้วยระดับผู้จัดการและระดับหัวหน้างานมีระดับความสุขเฉลี่ยอยูที่ 4.64 และ 4.54 ตามลำดับ
เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า 37% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ ขณะที่ 20% จะพอใจกับชีวิตการทำงานในองค์กรเดิมมากขึ้นหากได้รับการปรับเงินเดือน และ 8% จะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นหากได้รับการยอมรับในผลงานหรือได้รับรางวัลจากการทำงาน
ก่อนหน้านี้คนทำงานจะเลือกงานที่มีความมั่นคง มีหลักประกันชีวิต เพราะคำนึงถึงการเริ่มต้นชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งชีวิตการทำงานหรือเริ่มต้นสร้างชีวิตครอบครัวของตนเอง ที่ส่วนใหญ่ขยับตัวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบัน ขณะที่มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ๆ ใช้ “ความต้องการ” เป็นตัวแปรในการตัดสินใจเลือกงานและองค์กร คนกลุ่มนี้ไม่กดดันตัวเองด้วยการเอาปัจจัยเรื่องความมั่นคง และเงิน มาสร้างกรอบให้ตัวเองติดอยู่กับ Safe Zone เพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีกับองค์กร อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ส่งผลให้คนทำงานทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสุขในการทำงาน คือ ทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ชื่อเสียงขององค์กร และเพื่อนร่วมงาน ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ความสุขของพนักงานลดลงคือ การได้ทำงานกับทีมผู้บริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การอยู่ในองค์กรที่ไม่มอบโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน และการไม่มีโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาตัวเอง
ตลอดปีที่ผ่านมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งหุ่นยนต์และการพัฒนาระบบ AI ที่กำลังเติบโตจนส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน รวมทั้งการขยายตัวของสตาร์ทอัพที่ดึงดูดความสนใจคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายตัวเองให้ผันตัวไปเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่เลือกใช้โซเชียลมีเดียในการประกอบอาชีพที่มีความยืดหยุ่นทั้งเวลาและรายได้ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
ความท้าทายของผู้นำองค์กรอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากสร้างรายได้และเพิ่มผลิตผลให้แก่องค์กรแล้ว ยังต้องสามารถสร้างแรงจูงใจ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ได้อีกด้วย และกุญแจสำคัญที่จะช่วย รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง พร้อม ๆ กับการสร้างโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน เช่นเดียวกันกับการทำให้พนักงานได้เห็นต้นแบบที่มีศักยภาพ และมีวิสัยทัศน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความสุขกับการทำงานในทุก ๆ วันควบคู่กันไปด้วย
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ