การทำงานตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายให้งานเสร็จไปวัน ๆ นั้น อาจไม่เพียงพอและตอบโจทย์ต่อการทำงานในโลกยุคปัจจุบันที่การดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา องค์กรจึงมีความคาดหวังให้คนทำงานต้องสามารถทำงานได้บนสภาพความไม่แน่นอนต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกเมื่อ และเรียนรู้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อรับมือป้องกันทุกสถานการณ์ได้เสมอ นั่นก็คือการทำงานแบบ “Proactive” ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานยุคใหม่ให้ work ขึ้นกว่าที่เคย
การทำงานแบบ Proactive นั้นเป็นลักษณะการทำงานของคนที่ชอบคิดวางแผนไว้ล่วงหน้าเสมอ รวมถึงสามารถคาดการณ์ปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นจริงเสียก่อน ตรงกันข้ามกับการทำงานแบบ Reactive ที่เป็นการทำงานเชิงรับ หรือการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง การทำงานเชิงรุกเน้นความมุ่งมั่นในเป้าหมาย เชื่อมั่นในศักยภาพของคนทำงาน รวมไปถึงการยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขโดยไม่ย่อท้อ จนกว่างานนั้นจะประสบผลสำเร็จ คนทำงานแบบ Proactive มักเลือกที่จะตอบสนองสิ่งเร้าเชิงลบด้วยการทำงานเชิงบวก ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคปัญหา และหวังผลความเป็นเลิศในงานของตนเอง เรียกง่าย ๆ ว่าคนคุณภาพแบบนี้แหละที่องค์กรและสังคมต้องการอย่างแท้จริง
คนทำงานยุคใหม่ต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยตนเอง เริ่มจากการรักในสิ่งที่ทำ ใส่ใจและให้ใจกับการทำงานอย่างเต็มร้อย ไม่รอให้หัวหน้าหรือบุคคลอื่นมาคอยกำกับหรือสั่งการในสิ่งที่เราสมควรทำสมควรคิดได้ด้วยตัวเอง ต้องเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน และต้อง Proactive กับงานของตนเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างความแตกต่างและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของเรา ยกระดับตนเองให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
jobsDB มีคำแนะนำดี ๆ ที่จะฝากไว้ให้คนทำงาน เพื่อเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัยและวิธีการทำงานให้เป็นคนทำงานเชิงรุก แบบ Proactive ได้ง่าย ๆ ดังนี้
คิดบวก คิดสร้างสรรค์ปรับทัศนคติให้เป็นคนคิดเรื่องดี ๆ มองโลกแง่ดี มีมุมมองในเชิงสร้างสรรค์กับทุกเรื่อง ไม่ควรคิดมากกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นตัวบั่นทอนจิตใจ กำลังใจ และความตั้งใจดี ควรมองว่าเรื่องแย่ ๆ หรือเรื่องเชิงลบเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอะเจอ อย่าปล่อยให้ความคิดในทางลบหรือในทางไม่สร้างสรรค์มาเป็นตัวทำลายการทำงานเชิงรุกของตัวเราเอง
เป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ”พื้นฐานการทำงานของคนแบบ Proactive นั้น ต้องเป็นคนที่มีจิตสำนึกของการเป็น “ผู้ให้” โดยเฉพาะองค์กรที่เราร่วมงาน พยายามคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราจะทำได้เพื่อให้องค์กรได้รับผลประโยชน์มากที่สุด มีความคิดที่จะทำงานให้องค์กรมากกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับ เพราะที่สุดแล้วหากองค์กรอยู่รอดได้ ก็ย่อมหมายถึงความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวเราด้วยเช่นกัน
ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ทุกอย่างย่อมต้องเป็นไปได้ คนทำงานทุกคนต้องมีความพร้อมรับมือในทุกการเปลี่ยนแปลง มีความกล้าและสามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อผลักดันตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ สำหรับคนทำงานแบบ Proactive แล้วไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ หากมีความตั้งใจและมีความพยายามอย่างเต็มที่ และทุกปัญหาย่อมต้องมีหนทางหรือทางออกในตัวเองอยู่เสมอ
วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้และเมื่อวานการทำงานเชิงรุกนั้นต้องไม่มัวกังวลแต่เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ควรมองถึงอนาคตมากกว่า พึงระลึกไว้เสมอว่าอนาคตย่อมต้องดีขึ้นกว่าวันนี้และเมื่อวาน เป้าหมายในอนาคตย่อมเกิดจากการนำความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอดีตและปัจจุบันมาเป็นบทเรียนไม่ให้ผิดพลาดซ้ำ และเป็นแนวปฏิบัติที่ดีต่อไปได้ในอนาคต
ทำงานเชิงรุกอย่างยั่งยืนการทำงานเชิงรุกที่ดีควรเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกคน เพราะการทำงานต่าง ๆ ในองค์กรย่อมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมเสมอ และทีมของเราก็ต้องทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ เกี่ยวเนื่องกันไป ดังนั้นการสร้างทีมเวิร์คให้เกิดขึ้นย่อมหมายถึงประสิทธิผลที่มากขึ้น สร้างผลดีต่อองค์กรได้ในภาพรวม
ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการทำงานเชิงรุกให้เกิดขึ้นในองค์กร เริ่มต้นได้จากตัวเรา ส่งต่อพลังเชิงบวกไปถึงทุกคนในองค์กร ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการทำงานเชิงรุกให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สร้างความก้าวหน้าในสายอาชีพต่อคนทำงาน jobsDB เชื่อว่าถ้าคุณมีทัศนคติการทำงานเชิงรุก และนำไปปฏิบัติแล้ว ทั้งตัวคุณและองค์กรจะพัฒนาไปสู่ทิศทางของความสำเร็จได้ดังมุ่งหวังตั้งใจอย่างแน่นอน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ