จริงอยู่ว่าคนเราส่วนมากต่างก็มีเงินเดือนเป็น แรงจูงใจในการทำงาน แต่ถ้าวันใดลูกจ้างเกิดหมดไฟ เริ่ม ทำงานเช้าชามเย็นชาม แถมยังรู้สึกว่าตัวเองทำตัวถูกต้องแล้วด้วยความคิดที่ว่า “ก็ฉันทำงานตามฐานเงินเดือน” วันนั้นนายจ้างคงจะนั่งกุมขมับและต้องรีบหาทางออกโดยเร่งด่วนก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนส่งผลเสียต่อองค์กรโดยรวม
ค้นหาสาเหตุ
หัวหน้าควรรีบค้นหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดความคิดนี้ไม่ว่าจะด้วยการสังเกตเอง ลองคุยกับเพื่อนร่วมงานในทีมคนอื่นหรือพูดคุยซักถามโดยตรงกับเจ้าตัว ส่วนมากแล้วปัญหานี้มักเกิดกับพนักงานที่ทำงานมานานแต่อาจไม่ได้รับความก้าวหน้าหรือไม่ได้เงินเดือนขึ้นอย่างที่พวกเขาต้องการ และยังอาจมีปัญหาอื่นอีกมากมายที่ทำให้เขาเกิดอาการขาดแรงจูงใจในการทำงานไปเสียอย่างนั้น เช่น รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควร หัวหน้าต้องค้นหาให้พบก่อนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาหมดไฟ
ช่วยแก้ไข
เมื่อรู้ต้นเหตุแห่งความเฉื่อยชาแล้ว หัวหน้าควรดูขั้นตอนต่อไปว่าจะเรียกพลังของพนักงานคนนี้กลับมาอย่างไรให้เหมือนวันแรกที่เขาเข้าทำงาน อะไรคือแรงกระตุ้นหรือเป้าหมายการทำงานของเขา หากเขามีปัญหาเรื่องเงินเดือนไม่ค่อยขึ้นจริง แล้วผลการทำงานของเขาเป็นอย่างไร ถ้าผลงานดีแต่ขาดการยอมรับ หัวหน้าจะสามารถช่วยได้ไหม หรือหากผลงานไม่ดีก็ควรช่วยให้คำแนะนำและให้โอกาสเขาได้ปรับปรุงแก้ตัวอีกครั้ง การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ลูกน้องจะรู้สึกดีขึ้นมากหากหัวหน้าลงมาใส่ใจดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด
ใส่ใจกับพนักงานระดับหัวหน้างาน
จะเห็นได้ว่าหัวหน้ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหานี้ คำกล่าวที่ว่า “คนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่ลาออกเพราะหัวหน้า” จึงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงไปนัก มีหลายคนอยู่กับองค์กรนาน ซ้ำยังขยันตั้งใจทำงานไม่มีขาดตกบกพร่องไม่ใช่เพราะผลตอบแทน แต่เพราะรักและชื่นชมในตัวหัวหน้า ในฐานะนายจ้าง คุณอาจไม่สามารถดูแลลูกน้องทุกคนได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นหัวหน้าโดยตรงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากกับความกระตือรือร้นของทีม หัวหน้าที่มีความเป็นผู้นำจะสามารถกระตุ้นให้ลูกน้องมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ สามารถทำให้ผู้คนมีไฟและมีใจในการทำงานได้ ดังนั้นนายจ้างต้องคัดเลือกคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมให้ดี ดูที่บุคลิคและคุณสมบัติเป็นหลัก ไม่ใช่อายุงานหรือประสบการณ์การทำงานเพียงอย่างเดียว และต้องหมั่นสื่อสารกับหัวหน้าทุกคนเพื่อจะได้รับรู้ความเคลื่อนไหวในแต่ละทีมและช่วยให้คำแนะนำได้อย่างทันสถานการณ์ตามความเหมาะสม
ฟังดูผิวเผินคำพูดนี้อาจดูเหมือนมาจากพนักงานที่ขาดแรงกระตุ้นเรื่องรายได้ แต่หากนายจ้างมีความใส่ใจที่จะลงรายละเอียดและลองรับฟังปัญหาของแต่ละคนแล้ว อาจพบว่ามีความคาดหวังหรือความต้องการบางอย่างที่พวกเขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมมากกว่าเรื่องของเงินเดือน บางครั้งก็เป็นเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ปัญหาเรื่องเนื้องาน หรือบางครั้งก็อาจเป็นปัญหาด้านทัศนคติของตัวพนักงานเอง การขึ้นเงินเดือนแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะแม้หากเป็นปัญหาเรื่องเงินจริง พนักงานเองก็มักจะมีส่วนที่ต้องปรับปรุงผลงานของตัวเองด้วยเช่นกันซึ่งหัวหน้าต้องเข้าไปช่วยดูแล ดังนั้นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบก่อนจึงจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ