“พวกเขามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเมื่อสวมหมวกในตำแหน่งใดแล้ว พนักงานก็ต้องทำหน้าที่ส่งมอบผลงานที่บริษัทต้องการ ถ้าตั้งเป้าไว้ 100% ก็ต้องทำให้ได้เต็ม โดยลืมนึกไปว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร และลืมในเรื่องของ Human ware คือ คน เพราะหากเราได้รับการดูแล เอาใจใส่อย่างดีแล้วพนักงานจะสามารถทำงานได้เกินกว่า 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทในแถบเอเชียมองเห็นและมีให้กับพนักงาน”
เป็นคำกล่าวจาก ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท BMW(ประเทศไทย) ที่กล่าวถึงพนักงานที่มีระดับงานเท่าเทียมกัน ในอาชีพเดียวกัน กลับมีความแต่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการบริหารด้วยใจ และการสื่อสารต้องแตกต่างตามลักษณะบุคคล เป็นสิ่งที่ BMW ยกตัวอย่างในเรื่องของความหลากหลายของคนที่ไม่มีความเหมือนกันภายในองค์กร โดยภายในองค์กรประกอบด้วย วิศวกรเป็นส่วนใหญ่ ถัดมาคือพนักงานภาคธุรกิจ ทำงานการตลาด การขาย และการประชาสัมพันธ์ และกลุ่มสุดท้าย คือ ดีไซน์เนอร์ ซึ่งมีเพียง 2%
เมื่อเรารู้จักกลุ่มพนักงานภายในองค์กรเราแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจว่าคนในแต่ละกลุ่มมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน โดยแบ่งแบบหยาบๆ เช่น
กลุ่มวิศวกรที่จะเป็นพวกที่มีพัฒนาการด้านความคิดเป้นกราฟเส้นตรง เมื่อใดที่แรงกดดันมีมาก งานก็จะดี เทียบเป็นแกน X และY ยิ่งทำงานมากกราฟก็ยิ่งสูงขึ้น เพราะการทำงานจะเป็นระบบกลไก ทำงานด้วยคำสั่ง แต่สำหรับกลุ่มดีไซน์เนอร์ จะเป็นกราฟที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามอารมณ์ไม่แน่นอน
ดังนั้นหัวหน้าจะต้องเข้าใจลักษณะนิสัยของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ว่าควรจะสื่อสารกับใคร อย่างไร และจำทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วใช้ภาษาเดียวกันที่เป็นภาษาสากลภายในองค์กร เพราะฉะนั้น การสร้างทีมที่ดีจึงต้องรู้จักฝ่ายตรงข้ามให้ดี เปิดใจ ให้ความสำคัญกับปัญญาผู้อื่น รู้ว่าคนที่จะพูดด้วยเป็นใคร และเป็นคนอย่างไร จากนั้นไว้วางใจ และให้อำนาจ ในบทที่ต้องใช้ความก็ต้องเด็ดขาด ผู้นำจะทำตัวเหมือนเป็นปรอท เพราะไม่ใช่เพียงแค่วัดอุณหภูมิองค์กรเท่านั้น แต่จะต้องวัดอุณหภูมิของคนรอบข้างด้วยว่าเวลาใดควรเข้าใกล้ และปรับตัวตาม
ที่มา : www.siamhrm.com