คนทำงานทุกคนคงไม่มีใครไม่อยากเป็นคนเก่ง ที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง เจ้านาย ลูกค้า หรือคู่ค้าหรอกใช่ไหมคะ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่คุณกำลังทำอยู่ และคุณสมบัติหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของคนเก่ง ก็คือการเป็นคนช่างสงสัย ช่างซักช่างถาม และกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบให้จงได้
ลองหยุด และสำรวจตัวเองว่า คุณสมบัติที่ว่านี้มีอยู่ในตัวคุณแล้วหรือยัง
การตั้งคำถามว่า “ทำไม” เมื่อพบกับปัญหา จะนำไปสู่คำตอบที่ทำให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจนของปัญหา และเห็นสาเหตุที่แท้จริง ทั้งยังทำให้สามารถพลิกแพลงแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหานั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งนี้เพราะคนเก่งไม่ได้คิดเพียงหาทางแก้ปัญหา แต่คนเก่งคิดว่าจะทำอย่างไรปัญหานี้ถึงจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก
คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่นั้น แค่แก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้าให้หมดไปก็พอใจแล้ว น้อยคนนักที่จะมานั่งคิดต่อว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำอีก คนส่วนใหญ่จึงพุ่งสติและกำลังไปยังอะไรที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ เพื่อจัดการกับภาวะเดือดร้อนในตอนนี้ให้จบ ๆ ไปเสียมากกว่า และคิดว่าไม่มีเวลาที่จะตามไปแก้ไขถึงรากเหง้าของปัญหาได้ แล้วความพยายามในการแก้ปัญหาก็หยุดลงเพียงแค่นั้น
คนเก่งมองว่า ปัญหาที่แก้ไขแล้วแต่ยังเกิดซ้ำ ไม่ถือเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ในขณะที่คนไม่เก่งจะมองว่า ถ้าแก้ปัญหาครั้งนี้ไปแล้ว
ถือว่างานจบ พอใจ ถ้าเกิดปัญหาใหม่ก็แก้ไขใหม่ การแก้ปัญหาให้ผ่านไปมักก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจากความคับแคบในมุมมองหรือความรู้ แต่ถ้าอยากเป็นคนเก่งก็ต้องฝึกฝนตนเองเป็นประจำ รู้จักตั้งคำถามว่า “ทำไม” ในทุก ๆ เรื่อง เพื่อหาต้นเหตุ แล้วกำจัดมันทิ้งไปแบบถอนรากถอนโคน
ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ไม่อาจคิดหาสาเหตุต้นตอแห่งปัญหาได้อย่างรอบคอบเพียงพอ ซึ่งเป็นไปได้เมื่อเกิดปัญหาที่หนักหนา ในเวลานั้นสิ่งที่คิดออกอาจทำได้เพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเท่านั้น ในขณะที่คนที่มองอยู่ภายนอกที่ได้รับข่าวสาร ข้อมูลล่าสุดตลอดเวลา จะสามารถพิจารณาปัญหาได้อย่างสุขุมและรอบคอบกว่า
ยกตัวอย่างการเกิดโรคระบาด ถ้าในเมืองแห่งหนึ่งเกิดโรคระบาด และครอบครัวหนึ่งกำลังติดโรคและรอการรักษาอยู่ ต่อให้เป็นคนเก่งแค่ไหน หากครอบครัวของเขาต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้น ก็คงไม่มีสติพอจะมาคิดว่าทำไมโรคนี้ถึงระบาด และต้องทำอย่างไรถึงจะหยุดโรคระบาดนั้นได้ สิ่งที่คิดน่าจะเป็นว่า ต้องทำอย่างไรให้ครอบครัวหายจากโรคให้ได้ก่อนมากกว่า แต่คนเก่งจะไม่พอใจเพียงแค่การได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้จบไปเท่านั้น เมื่อปัญหาเฉพาะหน้าคลี่คลาย เขาจะกลับมาทบทวน วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา ตั้งคำถามว่า “ทำไม” อีกครึ่งหนึ่ง
จะเห็นว่าคนเก่งมีลักษณะที่ไม่ยอมจำนนต่ออะไรง่าย ๆ หากอยากเป็นคนเก่งต้องหมั่นฝึกฝนให้เกิดคุณสมบัติเช่นนี้ในตัวคุณ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม” “ทำไม” และ “ทำไม” ให้เป็นนิสัย