ผู้ประกันตนอาจสงสัยว่า ทำไมจึงเก็บเงินสมทบของรัฐบาล นายจ้าง ผู้ประกันตนไม่เท่ากัน ในการพิจารณากำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลน้อยกว่าลูกจ้าง และนายจ้างมีเหตุผล ดังต่อไปนี้
- ตามข้อกำหนดมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม รัฐบาลไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบในกรณีว่างงานเท่านายจ้าง และลูกจ้าง
- รัฐบาลมีภาระที่จะต้องสนับสนุนการดำเนินงานประกันสังคม กรณีว่างงานอยู่แล้ว โดยสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ด้านวัสดุครุภัณฑ์ ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ให้ข้อสังเกตในการกำหนดให้ค่าบริหารจัดหางาน และค่าพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน ว่าอาจจะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ทำให้ไม่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับบริการทั้ง 2 ส่วนไว้ในกฎกระทรวงได้
- ส่วนกรณีที่เกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมการให้บริการด้านจัดหางาน และพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานที่จะต้องควบคุมคุณภาพให้บริการเป็นไปตามนโยบายการฝึกอาชีพและการจัดหางานที่สอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการของผู้ประกันตน
- ตามข้อกำหนดของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่าย รัฐบาลมีหน้าที่จ่ายเงินอุดหนุน หรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น
- กรณีกองทุนไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริการจัดหางาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน จะทำให้ค่าใช้จ่ายกองทุนลดลง และจากการประมาณการกองทุนพบว่ากรณีจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้างในอัตราฝ่ายละ 0.5 % และรัฐบาล 0.25% กองทุนยังคงมีความมั่นคงโดยไม่ต้องลดประโยชน์ทดแทน และสามารถจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ถูกเลิกจ้างได้ในอัตรา 50 % ไม่เกิน 180 วัน และผู้ลาออกในอัตรา 30 % ไม่เกิน 90 วัน
ที่มา : สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th