ธุรกิจโฮมสเตย์เป็นธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านเปิดบ้านให้กับนักท่องเที่ยว เข้าพัก โดยที่เจ้าของบ้านนั้นๆอาจจะพักอยู่ด้วยขณะที่นักท่องเที่ยวพักอยู่หรือไม่ก็ได้ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านจะต้องมีความพร้อมที่จะให้บริการ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับ นักท่องเที่ยว ประดุจเป็นเจ้าของบ้านที่ดี
การให้การบริการหรือต้อนรับบุคคลที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนนั้นต้องมีการเตรียมการบริการ ซึ่งมีหลักดังนี้
การเตรียมคนและการบริการในบ้าน
เจ้าของบ้านจะต้องมีการเตรียมคนที่จะคอยบริการลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวที่มีความรู้รอบตัวในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อพูดคุย หรือให้ความรู้และตอบข้อซักถามถ้าในกรณีที่ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวเป็นชาวต่างชาติควรจัดเตรียมคนที่สามารสื่อภาษา ได้อย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามภายในบ้าน แต่การพูดคุยก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยเพราะบางครั้งนักท่องเที่ยว อาจต้องการความเป็นส่วนตัวบ้าง การพูดคุยในเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นการสร้างความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยวได้ ส่วนในกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องเสียเงินมากกว่าค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่กำหนดไว้ เจ้าของบ้านควรชี้แจงให้นักท่องเที่ยว ทราบเพื่อให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองว่ายินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หรือไม่ ส่วนการจัดสรรหน้าที่เจ้าของบ้านก็ควรมี การจัดสรรหน้าที่ที่รับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่น หน้าจัดเตรียมสถานที่ หน้าที่ทำอาหาร หรือหน้าที่พาเที่ยว เป็นต้น
การเตรียมเพื่อนบ้าน และผู้ให้บริการอื่น ๆ (ในชุมชน)
การให้บริการในธุรกิจโฮมสเตย์ไม่เพียงแต่เป็นการให้บริการในบ้านเท่านั้นยังรวมถึงการบริการของชุมชน หรือท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านนอกจากจะต้องจัดเตรียมสถานที่ภายในบ้านแล้วยังต้องมีการบอกกล่าว แจ้งให้ทราบหรือประสานงานกับท้องถิ่นหรือให้เพื่อนบ้านทราบเพื่อช่วยกันอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย รวมถึงการให้บริการในรูปแบบอื่นๆด้วย เช่นบริการนำเที่ยวสถานที่ชุมชนที่น่าสนใจ การเช่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ในการท่องเที่ยว เช่น การเช่าจักรยาน การเช่าเรือ ควรมีการกำหนดราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แผนที่การเดินทาง ก็ควรจัดทำให้ชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสามารถใช้ได้จริง ธุรกิจแบบโฮมสเตย์เป็นธุรกิจที่ต้องใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุดธุรกิจหนึ่ง เพราะลูกค้าจะต้องอยู่กับเรา ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาจนกระทั่งเข้านอน ฉะนั้นเจ้าของบ้านจึงต้องคำนึงถึงบทบาทของการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเป็นสำคัญ ความเป็นมิตรไมตรี และยิ้มแย้มแจ่มใส จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและกลับมาใช้บริการอีก
ผู้เป็นเจ้าของถิ่น ในฐานะเป็นเจ้าของบ้านที่ดี จะต้องมีบทบาทต่อการต้อนรับนักท่องเที่ยว ดังนี้
1. รู้ข่าวสาร และข้อมูลต่าง ๆ กว้างขวาง ข่าวสาร และข้อมูลทางการท่องเที่ยวที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ รู้อย่างถูกต้องและชัดเจน
1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รู้เรื่องท้องถิ่นของเราประดุจมัคคุเทศก์ที่ดี
1.2 เรื่องการติดต่อประสานงาน กรณีที่นักท่องเที่ยวได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ฉุกเฉิน ต้องรู้แหล่งที่จะแจ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน
1.3 รอบรู้ข่าวสารบ้านเมือง รู้เรื่องเบ็ดเตล็ดรอบตัวเรา ที่จะพูดคุยกับเขาได้
2. แนะนำและตักเตือนในสิ่งที่ควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติ ข้อนี้ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องวัฒนธรรมจารีตประเพณี ความเชื่อในท้องถิ่น เมื่อพบเห็นว่านักท่องเที่ยวทำผิดแบบแผน ระบียบการ ควรเข้าไปแนะนำว่าไม่ควรปฏิบัติ เช่น การสวมรองเท้าเข้าไปในบ้าน ในศาสนสถาน การใช้เท้าชี้ การแต่งกายเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งที่มีระเบียบกำหนดไว้บางกรณี หรือบางสิ่ง บางอย่างอาจเกิดความไม่ปลอดภัย ทั้งอาหารการกินและการเดินทาง เมื่อเราทราบก็ควรแนะนำให้นักท่องเที่ยวทราบด้วย เช่น อาหารบางประเภท ยาเสพติด พาหนะเดินทาง การเดินทางเข้าไปเที่ยวชมควรติดต่อผู้ใด หน่วยงานใด เป็นต้น
3. รู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน นักท่องเที่ยวได้รับการบาดเจ็บ อาจจำเป็นต้องให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่ถูกพืชและสัตว์ที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินป่าถูกแมลงสัตว์กัดต่อย การเล่นน้ำทะเลถูกพิษกะพรุนไฟ ปะการังไฟ หรือถูกกระแสน้ำจมน้ำ บางกรณี อาจเจ็บป่วยกะทันหันเช่น เป็นลม เป็นลมบ้าหมู เมื่อได้พบเห็นแล้วเราสามารถ ให้การปฐมพยาบาลและช่วยเหลือในขั้นต้นได้การเป็นเจ้าของบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยี่ยมเยือนท้องถิ่น เราให้ได้รับความปลอดภัย ได้รับความสะดวก ได้รับความยุติธรรมต่อการซื้อสินค้าต่าง ๆ เขาย่อมได้รับความประทับใจและ อยากเดินทางมาเยี่ยมเยือนอีกมาใช้บริการอีก
เมื่อมีโอกาสการให้การต้อนรับ การบริการ เพื่อการพักแรมโฮมสเตย์ ควรมีมาตรฐานของการบริการซึ่งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการบริหารเทศบาลก็ดี หรือคณะกรรมการบริหาร อบต. ก็ดี ต้องสังเกตและทราบข้อมูลเสียงสะท้อนกลับ ว่าเป็นการบริการอย่างไร หากบุคลากรในพื้นที่ยังบริการไม่ได้ระดับแล้ว นับเป็นภารกิจที่หน่วยงานนั้น จะต้องเป็นแกนนำต่อการพัฒนา อาทิ การฝึกอบรม การดูงาน การส่งไปฝึกงาน เป็นต้น เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถนำความรู้ไปพัฒนาบริการได้อย่างมีมาตรฐาน นักท่องเที่ยวได้รับความประทับใจ ความพึงพอใจ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าการบริการในธุรกิจโฮมสเตย์ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว หรือแขกผู้มาเยือน ในระหว่างที่เขามาพักอยู่ในโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในวงจรการให้บริการเท่านั้น เพราะการให้บริการ ในธุรกิจ โฮมสเตย์ ยังมีขั้นตอนอื่นที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ดังจะขอสรุป เป็นแผนภาพวงจรการให้บริการดังนี้