พิษเศรษฐกิจทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องดำเนินการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความไม่ประมาท เพราะพนักงานทุกคนมีส่วนสำคัญในการร่วมต่อสู้และฟันฝ่าวิกฤติไปพร้อมกับบริษัท ในสภาวการณ์เช่นนี้การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพนักงาน ผู้บริหาร และทุก ๆ ฝ่ายในองค์กรเป็นกลไกสำคัญในการเอาชนะอุปสรรคด้วย 5 แนวทางต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถบริหารคนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
- สื่อสารให้พนักงานรับทราบถึงสถานการณ์ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งพนักงานสามารถซักถามข้อสงสัยได้ ในขณะที่ฝ่ายบริหารก็ต้องตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา อธิบายให้พนักงานเข้าใจชัดเจน เช่น พนักงานอาจสงสัยว่าบริษัทมีการลดต้นทุนการผลิต ลดกำลังการผลิต ลดกำลังคน ลดโอที แต่บริษัทก็ยังจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ยังลงโฆษณาทางโทรทัศน์ซี่งมีราคาแพง ยังคงพาลูกค้าไปเลี้ยงร้านอาหารหรู แล้วบริษัทบอกว่ากำลังประสบปัญหาได้อย่างไร ฝ่ายบริหารควรทำความเข้าใจกับพนักงานว่า กิจกรรมทางการตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย เพราะหากบริษัทหยุดการดำเนินการทุกอย่างลูกค้าก็จะหายไป ตัวแทนจำหน่ายก็อยู่ไม่ได้ บริษัทก็จะจำหน่ายสินค้าได้ยากขึ้น การตลาดจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นการขายได้
- เปิดโอกาสให้พนักงานร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา ทำให้พนักงานรู้ว่าบริษัทเห็นคุณค่าและความสามารถของพวกเขาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบริษัท ร่วมกันระดมสมองเพื่อหาทางออกให้กับบริษัท สร้างความมั่นใจทางการตลาด เพื่อให้เกิดการชื้อขายสินค้า เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ช่วยให้กิจการดำเนินต่อไปได้
- จัดกิจกรรมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน เป็นสวัสดิการที่พนักงานควรจะได้รับ ไม่ใช่บริษัทจ้องแต่จะลดค่าใช้จ่าย จนตัดเรื่องกิจกรรมออกไป พนักงานก็จะหมดกำลังใจที่จะสู้ต่อไปพร้อม ๆ กับบริษัท ถึงแม้จะงดจัดท่องเที่ยวประจำปี แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป็นงานสังสรรค์เล็ก ๆ แต่อบอุ่น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานได้
- ในช่วงเวลาวิกฤติ ทางออกที่เรามองหาอาจเกิดจากมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่เราคุ้นเคย ฉะนั้นถ้าเราต้องการฝ่าวิกฤติไปให้ได้ เราต้องกล้าเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งยิ่งใหญ่ กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง ฉีกออกจากกฎเกณฑ์เดิม ๆ ที่เราเคยยึดติดให้ได้ ที่สำคัญต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พนักงานและบริษัททำร่วมกัน จะลำบากก็ลำบากด้วยกัน จะสำเร็จก็สำเร็จด้วยกัน เป็นการร่วมมือร่วมใจกันครั้งยิ่งใหญ่
- ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเปลี่ยนแปลง หากผู้บริหารต้องการให้พนักงานประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบริษัท ผู้บริหารเองก็ต้องประหยัดให้พนักงานเห็นด้วย ถ้าพนักงานถูกลดโอที ไม่มีโบนัส ผู้บริหารก็ต้องเสียสละ ยอมลดเงินเดือนตัวเอง เพื่อให้พนักงานระดับล่างอยู่ได้ ไม่รับโบนัส ไม่ใช้รถประจำตำแหน่ง เป็นต้น ถ้าผู้บริหารทำให้พนักงานเห็นว่าพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพนักงาน พนักงานก็จะเกิดความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบริษัทเช่นกัน
ความร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อผู้บริหารและพนักงานช่วยกันทุกฝ่ายก็จะสามารถประคับประคองบริษัทให้สามารฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปได้