การบริหารคน ให้ได้ผลดี ผู้นำ ต้องเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้แก่ ลูกน้อง มีการวางตัวที่เหมาะสม ทำให้ลูกน้องเคารพ และทำตามในสิ่งดี ๆ ในทางกลับกันถ้าผู้นำเป็นต้นแบบในทางที่ไม่ดี ลูกน้องก็จะทำตามในสิ่งที่ไม่ดีนั้นเช่นกัน จะตำหนิลูกน้องก็ไม่ได้ ในเมื่อตัวเองยังทำไม่ได้แล้วจะบอกให้ลูกน้องทำ ก็คงไม่มีทาง ในที่สุดก็จะพากันเสื่อมทั้งหัวหน้าทั้งลูกน้อง ดังนั้น นายที่ดีต้องทำตัวอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
- เข้างานตรงเวลา และอย่าออกก่อนเวลา ถ้าไม่อยากให้ลูกน้องมาทำ งาน สาย จงไปทำงานแต่เช้าทุกวัน และอย่าสร้างนิสัยออกก่อนเวลาให้กับลูกน้อง
- อย่าเดินไปดื่มน้ำพร้อมลูกน้องของคุณ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ พนักงาน จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสัพเพเหระกัน คุณอาจจะเผลอเล่าเรื่องที่คุณไปเที่ยวเมื่อคืนนี้ให้พวกเขาฟัง และไม่ว่าเมื่อคืนนี้คุณจะสนุกสุดเหวี่ยงขนาดไหน ก็ให้อดใจไว้อย่าเล่าออกไปเชียวล่ะ จงเก็บเรื่องส่วนตัวเอาไว้พูดคุยเฉพาะกับเพื่อนของคุณเท่านั้น
- อย่าขอให้พวกเขาทำอะไรที่นอกเหนือไปจากเรื่องงาน เช่น พาเจ้าตูบของคุณออกไปเดินเล่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟบ้านคุณ รับผ้าจากร้านซักรีด ซื้อขนมเค้กให้ลูกของคุณ เป็นต้น เว้นเสียแต่ว่าคนๆ นั้นเป็นผู้ช่วยประจำตัวของคุณ
- อย่าปล่อยให้พวกเขาฟังคุณคุยโทรศัพท์ส่วนตัว ถ้าพวกเขาได้ยินคุณเรียกแฟนของคุณว่าที่รักอย่างนั้น ที่รักอย่างนี้ เชื่อเถอะว่าพวกเขาจะเลียนแบบคุณเป็นเดือนๆ เลย และยังเป็นการสร้างนิสัยให้ลูกน้องคุณคุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัวทั้งวันอีกด้วย
- เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเสมอ ถ้าคุณมอบหมายงานที่คุณเองก็รู้สึกว่าน่าเบื่อหน่าย เช่น ส่งโบรชัวร์บริษัทไปหาลูกค้า 500 ราย จงหาเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมกับพวกเขา เพราะนี่คือทีมของคุณ จงสร้างผลงานร่วมกัน อย่าลืมว่ากำลังใจเป็นสำคัญมาก ถ้าผู้นำเอาใจใส่ลูกน้องก็จะสร้างกำลังใจและเป็นแรงจูงใจในการทำงาน
- คุณไม่ใช่เพื่อนของพวกเขา การเป็นผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องราวความรักให้ลูกน้องฟัง ถึงแม้ว่าคุณอยากจะให้ลูกน้องรู้สึกผ่อนคลายและยอมเล่าปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาในครอบครัวให้คุณฟังก็ตาม (ถ้าปัญหานั้นส่งผลกระทบกับงานของพวกเขา) เช่น แม่ไม่สบาย ลูกไม่มีคนดูแล สิ่งสุดท้ายที่คุณจะทำคือการเป็นศิราณีคอยแก้ปัญหาหัวใจให้ลูกน้องของคุณ
- รับผิดชอบในความผิดพลาด ในฐานะหัวหน้าเมื่อลูกน้องของคุณทำความผิดพลาดใดๆ ก็ตาม คุณต้องเป็นคนรับผิดชอบในความผิดนั้น เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ในส่วนของลูกน้องที่มีปัญหา คุณควรเพิ่มความเอาใจใส่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ให้เขามีโอกาสได้ฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของเขาให้ดีขึ้น
- บริหารจัดการ แต่ไม่จู้จี้จุกจิก ลูกน้องชอบผู้นำที่เอาใจใส่และคอยให้คำปรึกษา ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการเป็นตัวของตัวเอง และได้แสดงความสามารถของพวกเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้นคุณอย่าได้ทำตัวจู้จี้จุกจิก หรือคุมเข้มทุกกระเบียดนิ้ว เพราะจะทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกอึดอัด และเบื่อหน่ายในการทำงานไปเสียก่อน
ด้วยคำแนะนำเหล่านี้ หวังว่าจะช่วยให้ผู้นำวางตัวได้อย่างเหมาะสม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง เมื่อบุคลากรพร้อม ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในที่สุด
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พนักงานต้องการอะไรในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
การบริหารพนักงาน Gen Y กับแนวคิด 3R (ตอนที่ 1)