ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาไปได้ไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ก็เพราะแนวคิด ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมได้บ่มเพาะใช้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีสไตล์ที่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะทำอะไรคนญี่ปุ่นมักมีความคิดแหวกแนว สร้างสรรค์ ไม่ซ้ำใคร ในขณะที่ยังคงดำเนินชีวิตตามกรอบประเพณีญี่ปุ่นที่ยึดถือกันมายาวนานได้อย่างเคร่งครัด
หลายคนคงอยากทราบว่า แนวคิดในการทำงานของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร จึงทำให้เขาทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ วันนี้เรามี บัญญัติ 10 ข้อในการทำงานของคนญี่ปุ่นมาฝาก จากหนังสือ“เคล็ดลับและมารยาทในการทำงาน” ซึ่งเรียบเรียงโดย ฮิโรโกะ นิชิเดะ แปลโดย กิ่งดาว ไตรยสุนันท์
1. ฝึกฝนความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เทคนิคฉาบฉวย
มารยาทในการสูบบุหรี่ การกลั่นแกล้ง ล้วนเป็นปัญหาที่พบได้ในสถานที่ทำงาน แต่แท้ที่จริงแล้วก่อนจะเป็นปัญหาในการทำงาน มันคือ “ปัญหาของตัวบุคคล” มาก่อนนั่นเอง “งาน” กับ “เรื่องส่วนตัว” นั้นเป็นคนละเรื่องกัน แต่แทบจะไม่มีใครที่ทำงานไม่ดี แต่กลับเป็นคนใช้ได้ในเรื่องอื่น ๆ “ความมีวุฒิภาวะ” คือก้าวแรกของการเป็นคนทำงานมืออาชีพ
2. ความต้องการสื่อสารกับผู้อื่นคือสิ่งสำคัญ
ไม่มีงานใดที่สำเร็จเสร็จสิ้นลงได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นเลย ความสามารถในการสื่อสารกับผู้คนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานทุกประเภท ความสามารถในการสื่อสารไม่ได้หมายถึง ความสามารถในการใช้ถ้อยคำสำบัดสำนวน แต่หมายถึงท่าทีที่แสดงออกถึงความต้องการสื่อสารกับคนรอบข้างหรือไม่ต่างหาก
3. ความสามารถในการคาดเดา (ความเอาใจใส่)
การคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของคู่กรณี (หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง) เช่นเดียวกับการคิดจากมุมมองของลูกค้า คือความคิดแบบมืออาชีพ จากนั้นจึงใช้ความสามารถในการคาดเดา เราควรฝึกฝนการคาดเดาล่วงหน้าอยู่เสมอว่าคู่กรณีต้องการสิ่งใด ทำอย่างไรจึงจะทำงานร่วมกันด้วยความพอใจให้ติดเป็นนิสัย
4. เรื่องงานเกี่ยวโยงกับเรื่องส่วนตัว
การแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวถือเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่จะแยกพฤติกรรมและความรู้สึกของคนคนเดียวออกจากกันอย่างสิ้นเชิงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อให้เรื่องงานสมบรูณ์ควรทำเรื่องส่วนตัวให้ดีที่สุดก่อน แม้จะเป็นแนวคิด “กันไว้ดีกว่าแก้” แต่ก็ควรนำไปใช้
5. งานเริ่มต้นเมื่อออกจากบ้าน
งานไม่ได้เริ่มเมื่อไปถึงที่ทำงานแล้วเท่านั้น แม้สวิตช์โหมดการทำงานของคุณจะยังปิดอยู่ แต่ถ้าหากใครสักคนบังเอิญได้เห็นคุณตามท้องถนนซึ่งต่างไปจากตัวคุณในเวลาทำงาน เขาอาจคิดว่านี่คือ “ตัวตนที่แท้จริงของคุณ” ก็ได้ จงคิดเสมอว่างานเริ่มทันทีเมื่อก้าวเท้าออกจากบ้าน
6. หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต้องมาก่อน
ระดับความสัมพันธ์สูงต่ำในองค์กรหรือการทำงาน หากจะพูดให้ชัดเจนก็คือ “การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ” นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่เพื่อตีค่าบุคคลตามความสามารถ แต่เป็นข้อตกลงเพื่อให้งานเดินหน้าไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
7. ถ้าไม่มีกำหนดเส้นตาย ก็เป็นแค่ “งานอดิเรก”
การกำหนด “เส้นตาย” หมายถึงมีการกดปุ่มให้ใครบางคน “เริ่มทำงาน” คำนึงไว้เสมอว่างานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก การรู้จักบริหารเวลาคือกฏพื้นฐานของการทำงาน
8. ทำงานอย่างมืออาชีพ
หากสิ่งที่คุณทำก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายแม้เพียงบาทเดียวก็ตาม ถือว่านั่นคือการทำงานและคุณก็คือมืออาชีพ ไม่เกี่ยงว่าคุณคือพนักงานพาร์ตไทม์หรือลูกจ้างชั่วคราว หากคุณต้องเกี่ยวข้องกับลูกค้าหรือผู้ที่ทำงานด้วย คุณก็ถือเป็นตัวแทนของบริษัทนั้น ๆ
9. ลองมองจากมุมของผู้บริหาร
สมมุติว่าคุณคือผู้บริหาร คุณจะอดทนต่อพนักงานที่คุยโทรศัพท์ส่วนตัวนาน ๆ ในเวลางาน หรือนั่งหลับในเวลางานได้หรือไม่? หรือไม่ก็เอาเรื่องกับพนักงานที่เรียกแล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้หรือเปล่า? บางครั้งควรลองมองจากมุมของผู้บริหารว่า “ตอนนี้เราทำงานให้บริษัทพึงพอใจที่จะจ่ายเงินเดือนแล้วหรือยัง”
10. สร้างสมสถานการณ์ WIN-WINเล็ก ๆ น้อย ๆ
WIN-WIN คือการที่เราและคู่กรณีได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งมิได้หมายถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจใหญ่โต เมื่องานชิ้นใหญ่ย่อมแบ่งออกเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ ได้ การทำให้เกิด WIN-WIN เล็กน้อยในเรื่องใกล้ตัวก็เชื่อมโยงกับ WIN-WIN ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน
ถึงจะเป็นแนวคิดของคนเพียงชาติเดียว แต่ก็มีความเป็นสากลและเป็นมารยาทที่ทุกคนพึงมี ซึ่งหากเราจะนำมาปรับใช้ในการทำงานของเรา ก็คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย