เวลาเปลี่ยน ทุกสิ่งในโลกก็เปลี่ยน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดงาน งานซึ่งเคยเป็นที่หมายปองของใคร ๆ อาจกลายเป็นงานที่ถูกเบือนหน้าหนี งานบางประเภทถึงกับล้มหายตายจากไป เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นเพราะค่านิยมและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดงานเปลี่ยนตาม และยิ่งก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตลาดงานก็ยิ่งพลิกโฉมไปจากเดิม แล้วบัณฑิตแบบไหนจะตอบโจทย์ตลาดงานที่เปลี่ยนไปนี้
เรามาค้นหาคำตอบจากกูรูด้านตลาดงานกันดีกว่า คนแรกคือคุณอันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัดผู้สั่งสมประสบการณ์ในฐานะบริษัทจัดหางานระดับสากล เธอกล่าวว่าสมัยก่อนคนไทยมักใฝ่ฝันทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็อาชีพยอดนิยมอย่างหมอและวิศวกร แต่ปัจจุบันเมื่อสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาท พฤติกรรมคนเปลี่ยน อาชีพใหม่ ๆ ที่ตอบสนองสื่อดิจิทัลจึงเกิดขึ้นมามากมาย เช่น งานการตลาดดิจิทัล งานพัฒนาแอพพลิเคชั่น ฯลฯ ส่งผลให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวตามตลาดงานไปด้วยเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตรงเป้าหมาย
“จากมหาวิทยาลัยที่เคยมีแค่คณะเดิม ๆ หรือหลักสูตรที่สอนแบบกว้าง ๆ ก็เปลี่ยนเป็นหลักสูตรเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาการตลาดดิจิทัล เกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ การสร้างแอนิเมชั่น หรือแม้แต่สาขาวิชาการสร้างเจ้าของกิจการ แต่ด้วยความที่มีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งเปิดสอนสาขาวิชาเหล่านี้ ทำให้มีบัณฑิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จากข้อมูลพบว่าตลาดงานยังขาดแคลนอาชีพดังกล่าวราว 85 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่รายได้สูงกว่าอาชีพทั่วไปถึง 61 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้คนที่มีทักษะทางวิชาชีพหรือ Skill Set ตลอดจนความรู้ภาษาต่างประเทศก็เป็นที่ต้องการมาก เพราะบริษัทอินเตอร์ฯ เกิดขึ้นในไทยจำนวนมาก ความสำคัญอีกประการคือ บริษัทส่วนใหญ่ต้องการคนที่มีแนวคิดแบบเป็นเจ้าของ เพราะคนลักษณะดังกล่าวจะไม่ได้คิดแค่เป็นลูกจ้างที่ทำงานเช้าชามเย็นชาม”
ทัศนะของคุณอันธิกาบ่งชี้ให้เห็นว่า ทักษะทางวิชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว แต่ทักษะภาคปฏิบัติอันจะส่งเสริมให้บัณฑิตมี Skill Set ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สอดคล้องกับคำตอบของคุณสรัญธร ทัศนกุลพันธ์ ผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล บริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)ผู้เห็นเรซูเม่ผ่านตาจำนวนมากในแต่ละวัน เธอมาไขข้อข้องใจว่า บัณฑิตแบบไหนที่บริษัทชั้นนำต้องการ
“Competency และ Skill เป็นสิ่งที่ HR ทุกแห่งพยายามนำมาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก ซึ่งอันดับแรกเรซูเม่จะสะท้อนบุคลิกภาพผู้สมัครงานได้ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งงานบัญชี การวางแพตเทิร์นในเรซูเม่จะค่อนข้างเป็นระบบระเบียบ เป็นต้น นอกจากนี้ความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติหรือ Skill ก็เป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ล้วนต้องการ จริงอยู่ว่าทุกองค์กรย่อมมีการฝึกฝนพนักงานใหม่อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกคนที่สามารถลงมือปฏิบัติได้เลย หรือไม่ก็คนที่องค์กรไม่จำเป็นต้องมาฝึกฝนเพิ่มเติมมากนัก กิจกรรมระหว่างเรียนและรายละเอียดของหลักสูตรจึงสำคัญมาก เราจะดูว่าเขาทำกิจกรรมอะไรบ้าง หลักสูตรมีภาคปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน การฝึกงานตรงตามสายงานหรือไม่ ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วองค์กรก็จะเลือกผู้สมัครงานที่เก่งด้านปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี”
ทางด้านผศ.ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนที่ต้องก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกให้ทัน ด้วยการเปิดสอนสาขาวิชาเฉพาะทางเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ตลาดงานมากขึ้น ได้กล่าวเสริมว่า
“เด็กไทยมักขาดความเข้าใจว่า สาขา คณะ หรือมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียนนั้นนำไปสู่การประกอบอาชีพใด เขาจะชอบอาชีพนั้นจริงไหม หรืออาชีพนั้น ๆ จะยังคงมีอยู่ในอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้เพราะสังคมยังสนใจแค่ว่า จะสอบติดที่ไหนมากกว่าสอบติดสาขาอะไร โดยไม่สนใจว่าเรียนไปแล้วจะทำอาชีพอะไรกันแน่ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยต้องเล็งเห็นความสำคัญ ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรที่ทันสมัย ตอบโจทย์ตลาดงานและอาชีพในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กเข้าใจและค้นพบสิ่งที่เขาชอบตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วให้เขาเลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัด เพื่อจะผลิตบัณฑิตที่มีโอกาสทำงานรายได้งามและมีอนาคตที่ดี เป็นอาชีพที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ ไม่ใช่จบไปแล้วเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำงานอะไร หรือกลายเป็นงานที่ตกสมัยไปแล้ว”
จากข้อมูลของกูรูทั้งสามทำให้สรุปได้ว่า คำว่า “ม.รัฐและม.เอกชน” ไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จ แต่บัณฑิตที่จะ “ไปรอด” ต้องสำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาเฉพาะทางซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงาน โดยเฉพาะงานที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันต้องเป็นงานที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้ อีกทั้งต้องมีทักษะภาคปฏิบัติที่แข็งแรงควบคู่กับทักษะภาควิชาการ และถ้ามีวิสัยทัศน์ของการเป็นเจ้าของกิจการด้วยละก็ จะยิ่งส่งเสริมให้บัณฑิตผู้นั้นไม่เพียงแค่ “ไปรอด” แต่ทว่า “ไปไกลกว่า” บัณฑิตคนอื่นในตลาดงานยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ