เมื่อเราไปสมัครงาน สิ่งหนึ่งที่เรามักจะพบใน ใบสมัคร คือการให้กรอกชื่อและช่องทางติดต่อบุคคลอ้างอิง บางบริษัทต้องการบุคคลอ้างอิงแค่คนเดียว แต่บางบริษัทก็ต้องการบุคคลอ้างอิงมากถึง 2-3 คน บุคคลอ้างอิงคือใคร บุคคลอ้างอิงจำเป็นต่อการสมัครงานของเรามากน้อยแค่ไหน และสำหรับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบใหม่ เพิ่งเริ่มต้นสมัครงานที่แรก ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน เราควรให้ใครเป็นบุคคลอ้างอิงดี มาหาคำตอบพร้อมกัน
บุคคลอ้างอิงในใบสมัครงาน สำคัญอย่างไร
บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ต้องการให้ผู้สมัครงานกรอกชื่อบุคคลอ้างอิงลงในใบสมัครงาน เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันว่า ผู้สมัครงานเคยมีประสบการณ์ทำงานที่บริษัทนั้นจริงตามที่เขียนระบุในใบสมัคร รวมไปถึงสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้สมัครงาน เช่น ประวัติการทำงาน รายละเอียดของงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ผลงาน ความสำเร็จ ทัศนคติในการทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน จุดเด่น จุดด้อย ข้อดีและข้อเสียของผู้สมัครงาน เป็นต้น เพื่อพิจารณาควบคู่ไปกับข้อมูลที่ระบุมาในใบสมัคร และ/หรือ ข้อมูลตามที่ให้สัมภาษณ์ เพื่อที่จะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับเข้าทำงาน
บุคคลอ้างอิงต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง
ข้อมูลของบุคคลอ้างอิงที่ต้องใช้กรอกในใบสมัครงาน ประกอบด้วย
เรียนจบใหม่ ควรให้ใครเป็นบุคคลอ้างอิง
สำหรับคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน อาจระบุหัวหน้าจากที่ทำงานเก่า หรือหัวหน้าฝ่าย ทรัพยากรบุคคล ที่ทำงานเก่าเป็นบุคคลอ้างอิงได้ แต่สำหรับนิสิต นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบใหม่ และยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน เมื่อมาสมัครงานที่แรกแล้วจำเป็นต้องมีบุคคลอ้างอิงเพื่อใช้ในการสมัครงาน สามารถใช้รายชื่อของบุคคลเหล่านี้ในการอ้างอิงได้
อาจารย์ที่ปรึกษา / อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย
เราสามารถติดต่อขอให้อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ประจำชั้น/รุ่น/ภาควิชา หรืออาจารย์ที่มีตำแหน่งในมหาวิทยาลัย เช่น คณบดี มาเป็นบุคคลอ้างอิงในการสมัครงานของเราได้ โดยควรเลือกติดต่ออาจารย์ที่จดจำเราได้ รู้จักเรา และสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราได้
ผู้บังคับบัญชา หัวหน้า หรือรุ่นพี่ที่เราเคย ฝึกงาน ด้วย หรือเป็นคนสอนงานให้เรา
ถึงจะยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน แต่การฝึกงานก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมฝึกฝนตนเอง เตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง เราสามารถติดต่อรุ่นพี่ หัวหน้า ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ดูแลเราในช่วงฝึกงานให้มาเป็นบุคคลอ้างอิงในการสมัครงานของเราได้
หัวหน้างานพิเศษที่เราเคยทำ
ถ้าเราเคยทำงานพิเศษ งานเสริม นอกเหนือจากเวลาเรียน เราสามารถขอให้หัวหน้าที่ดูแลเราช่วยเป็นบุคคลอ้างอิงได้
หัวหน้าทีมกิจกรรมที่เคยมีส่วนร่วม
ถ้าสมัยเรียน เราเป็นเด็กกิจกรรม ชอบมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะกิจกรรมใน มหาวิทยาลัย หรือนอกมหาวิทยาลัย เคยมีประสบการณ์การทำค่าย เข้าร่วมค่าย หรือกิจกรรมใดที่มีประโยชน์และน่าสนใจ เราสามารถขอให้ผู้จัดกิจกรรมนั้นลงชื่อเป็นบุคคลอ้างอิงในการสมัครงานของเราได้เช่นกัน
ข้อควรปฏิบัติในการระบุบุคคลอ้างอิง
เมื่อเราเลือกได้แล้วว่าต้องการให้ใครมาเป็นบุคคลอ้างอิงในการสมัครงานของเราบ้าง ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่เราควรใส่ใจ ได้แก่
1. เราควรขออนุญาตทุกครั้ง ก่อนที่จะนำชื่อของใครมาเป็นบุคคลอ้างอิง โดยเริ่มจากการแจ้งให้บุคคลนั้นทราบว่า เราต้องการขออนุญาตใช้ชื่ออ้างอิงเพื่อสมัครงาน โดยเราควรระบุตำแหน่งงานที่สมัคร รายละเอียดให้บุคคลอ้างอิงทราบ หากบริษัทที่เราสมัครงานติดต่อไปเพื่อขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บุคคลอ้างอิงของเราจะได้เตรียมตัวให้พร้อม และสามารถตอบคำถามได้อย่างราบรื่นด้วยความเต็มใจ ไม่ควรนำชื่อของใครไปเป็นบุคคลอ้างอิงโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อน
2. บุคคลอ้างอิงควรมีความหลากหลาย ไม่ควรใช้บุคคลอ้างอิงจากองค์กรเดียวกันเกิน 2 ราย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทที่สมัครงาน ต้องการบุคคลอ้างอิง 3 คน เราอาจให้ 2 คนแรกเป็นอาจารย์ที่เรารู้จัก ส่วนคนที่ 3 เป็นหัวหน้าที่เราเคยฝึกงานด้วย เป็นต้น
3. ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ต้องการให้เราระบุบุคคลอ้างอิง หากบริษัทที่เราสมัครงานไม่ได้ขอข้อมูลของบุคคลอ้างอิง เราก็ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลของบุคคลอ้างอิงลงในเรซูเม่
4. ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลอ้างอิงที่ระบุในใบสมัครต้องเป็นข้อมูลที่ตรงตามความจริง หากเรากรอกข้อมูลเท็จลงไป จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ในการสมัครงานของเราเสีย เป็นการเริ่มต้นที่ไม่น่าประทับใจ และดูมีจุดประสงค์ทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มต้นสมัครงาน
เพียงเท่านี้ ต่อให้เป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่มี ประสบการณ์ทำงาน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องบุคคลอ้างอิงอีกต่อไป เราสามารถสมัครงานที่เราสนใจได้อย่างสบายใจ JobsDB ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ทำงานที่ใช่ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ สนุก และมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android