การประเมินผลงาน ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของเราในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะจาก หัวหน้า ของเรา หรือเพื่อนร่วมงานของเรา ทำให้เราได้เรียนรู้ข้อเสียเกี่ยวกับตัวเรา และสิ่งที่ควรปรับปรุง หรือสิ่งที่ควรเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อให้การ ทำงาน มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
แน่นอนว่า เมื่อได้รับทั้งคำติและคำชมมาแล้ว เราย่อมต้องปรับปรุงตัวเราให้ทำงานดีขึ้น แต่ต้องทำอย่างไร? เราจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างที่เราตั้งใจไว้ และกลายเป็นพนักงานที่ทำงานเก่งขึ้นสมกับความคาดหวังของหัวหน้า
ในการปรับปรุงหลังการประเมินผลงาน อาจจะเป็นสิ่งที่น่าหนักใจสำหรับหลาย ๆ คน เพราะกลัวว่าจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หากยังมีข้อสงสัยหรือความกังวลใจว่าจะทำได้หรือไม่ ให้ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดู เพื่อเป็นแนวทางให้เราปรับตัวให้เข้ากับการทำงานได้ง่ายขึ้น
มองโลกในแง่บวก
พยายามอย่าคิดว่าการประเมินผลงานที่ผ่านมานั้น เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานกำลังตำหนิเรา หรือพยายามจับผิดการทำงานของเรา เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่จริงเลย ให้นึกเสมอว่า เหตุผลที่มีการประเมินผลงานในแต่ละปี เป็นส่วนหนึ่งของการรักษามาตรฐานการทำงานของทีม หรือของบริษัทไว้ หากมีใครก็ตามที่ทำงานไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท แล้วหัวหน้าปล่อยให้มีการทำงานแบบนั้นไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพได้ ให้ลองสร้างกำลังใจให้ตัวเองดูว่า เสียงวิจารณ์เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราทำงานเก่งขึ้น
ปรับปรุงการทำงานอย่างจริงจัง
เมื่อทราบถึงที่มาที่ไป หรือความคิดเห็นของ เพื่อนร่วมงาน แต่ละคนแล้ว ให้ลองรวบรวมความคิดเห็นเหล่านั้นมาทำให้การทำงานของเราเป็นรูปธรรมมากขึ้น หาคำตอบให้กับตนเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป การทำงานของเราจึงจะดีขึ้นได้จริง โดยเปรียบเทียบความคิดเห็นที่ได้รับมา มาเปรียบเทียบแบบบรรทัดต่อบรรทัด เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริง และเห็นสิ่งที่เราควรจะแก้ไข อาจจะเริ่มต้นด้วยการเขียนแผนงานออกมา แล้วทดลองทำทุกขั้นตอน ทุกวิธีการ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งไหนที่ทำให้เราทำงานดีขึ้นจริง สิ่งไหนเป็นสิ่งที่เราพยายามทำแล้ว แต่จนแล้วจนรอด การทำงานของเราก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก และนั่นคือปัญหาที่เราต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป
ขอความช่วยเหลือเมื่อเจอปัญหา
เมื่อมาถึงขั้นตอนการลงมือทำ บางครั้งการนำสิ่งที่ได้รับหลังจากการประเมินผลมาปรับใช้จริง อาจจะไม่ได้สมหวังอย่างที่คิดเสมอไป เพราะเราอาจจะเจอกับปัญหาว่าไม่สามารถใช้ได้จริง หากเจอปัญหาเช่นนั้นแล้ว อย่ารีรอที่จะขอคำปรึกษาจากหัวหน้า หรือผู้ที่ให้คำแนะนำเรามา เพราะปัญหาบางอย่างไม่สามารถใช้คำตอบแบบเดียวกันแก้ได้ อาจจะต้องหาแนวทางอื่น เพื่อนำมาแก้ปัญหาของเรา อีกทั้ง เมื่อเราของความช่วยเหลือ หัวหน้าก็จะได้รู้ปัญหาของเราด้วย ว่าแท้ที่จริงแล้ว การที่เรามีปัญหาในการทำงานด้านใดด้านหนึ่ง เป็นเพราะติดปัญหาในส่วนนี้
บอกเล่าประสบการณ์ที่ดี
เมื่อเราลองปรับวิธีการทำงานหลังการประเมินผลงาน ตามคำแนะนำของหัวหน้า และเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ดูแล้ว ให้เราบอกเล่าประสบการณ์หลังจากการทดลองให้หัวหน้าทราบ ว่าหลังจากที่เราลองปรับปรุงตัวเองดูแล้ว การทำงานของเราดีขึ้นอย่างไร และการทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากเพียงใด เมื่อเทียบกับวิธีการทำงานแบบเก่าที่เราเคยทำ การบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รู้ว่าเรามาถูกทางแล้วหรือไม่ แต่ยังทำให้หัวหน้าได้รับรู้ว่าเรามีความตั้งใจเพียงใดในการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างที่ได้คาดหวังไว้
แม้ว่าช่วงเวลาหลัง การประเมินผลงาน จะเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับการทำงาน แต่เราเองก็ต้องไม่ลืมว่า เราต้องนำคำแนะนำเหล่านั้นมารวมเข้ากับลักษณะการทำงานที่ดีของเรา ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้การทำงานไปได้รวดเร็วขึ้น ต้องไม่ให้เหมือนว่าเรากำลังจะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เมื่อไม่ต้องเสียเวลาแล้ว เราก็จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่เราได้รับการประเมินผลการทำงานในแต่ละปี
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ