หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงานมานานและไม่เคย อัพเดทเรซูเม่ เลย จนมาถึงวันที่อยากสัมผัสโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตการทำงานบ้าง จะอัพเดทเรซูเม่อย่างไรจึงจะเข้าตานายจ้าง เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก ลองสมมติว่าตัวคุณอ่าน เรซูเม่ ในฐานะนายจ้าง คุณจะตอบคำถามต่อไปนี้อย่างไร
1. คุณชอบผู้สมัครงานคนนี้มากพอที่อยากจะอ่านเรซูเม่ของเขาต่อไปหรือไม่
เนื่องจาก HR ใช้เวลาเพียง 6 วินาทีในการพิจารณาว่าเขาต้องการอ่านเรซูเม่ฉบับนั้นต่อไปหรือไม่ ผู้สมัครงานจึงควรจับความสนใจของ HR ให้ได้ในทันที โดยเราแนะนำให้คุณทำดังนี้
เขียน career summary ที่บรรยายถึงตำแหน่งงานปัจจุบันของคุณ อายุงานในสายงานดังกล่าว พร้อมกับจุดแข็งของคุณ ด้วยความยาว 2 – 3 บรรทัด และคุณต้องไม่ลืมที่จะปรับแต่งเรซูเม่ของคุณให้เข้ากับ job description ของ ตำแหน่งงาน ที่คุณกำลังสมัครด้วย นอกจากนี้คุณอาจใส่ความสำเร็จที่คุณภาคภูมิใจมากที่สุดลงไปเป็น bullet สัก 2 – 3 ข้อสั้น ๆ เพื่อเพิ่มเติมความโดดเด่นและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
2. หน้าที่ความรับผิดชอบที่ผู้สมัครงานนำเสนอ โชว์ให้เห็นผลงานอย่างชัดเจนหรือไม่
ปัจจุบันการบรรยายเพียงหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้สมัครงานจึงควรคิดเสมอว่า คุณกำลังเขียนรายงานเพื่อเสนอต่อผู้บริหารระดับสูง แล้วเนื้อหาแบบไหนล่ะที่ผู้บริหารต้องการเห็น แน่นอนว่าเขาต้องการเห็นผลงานที่ผ่านมาของคุณ ดังนั้นควรนำเสนอให้เห็นว่าที่ผ่านมาคุณทำผลงานได้ดีเพียงใด และผลงานนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร
3. ฟ้อนต์และขนาดตัวอักษรที่ใช้อ่านยากเกินไปหรือเปล่า
หาก เรซูม่ไม่น่าอ่าน คุณอาจถูกคัดทิ้งโดยที่นายจ้างไม่คิดจะอ่านมันเลยก็ได้ ความยาวเรซูเม่ที่เหมาะสมอยู่ที่ 1 – 2 หน้า และควรใช้ฟ้อนต์ Arial หรือ Times New Roman ขนาดไม่ต่ำกว่า 10 pt เพื่อให้อ่านง่าย หากเรซูเม่ของคุณยาวกว่านั้นให้คุณลองพริ้นท์ออกมา แล้วใช้ปากกาขีดคำที่ฟุ่มเฟือยออก หรือหากยังยาวอยู่ ให้ลองปรับ margin หน้ากระดาษให้กว้างออก โดยที่ยังอยู่ในขนาดที่สามารถพริ้นท์ออกมาได้อย่างสวยงาม
4. ผู้สมัครคนนี้แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นเปล่า
หากคุณบรรยายความสามารถว่า คุณมีทักษะในการสื่อสารดีเยี่ยมทั้งการเขียนและการพูด คุณมีทักษะในการบริหารเวลา คุณมีความเป็นผู้นำทีมทั้งยังเป็นผู้ร่วมทีมที่ดีในเวลาเดียวกันอีกด้วย การเขียนเช่นนี้ไม่ได้ทำให้คุณแตกต่างจากผู้อื่น คุณต้องทำมากกว่านั้น โดยการแสดงตัวอย่างว่าคุณใช้ทักษะเหล่านั้นจัดการงานของคุณอย่างไร และจะนำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับงานใหม่ที่คุณสมัครได้อย่างไร
5. มีข้อผิดพลาดในเรซูเม่หรือไม่
ควรตรวจทานให้ดีก่อนส่งเรซูเม่ เพราะแม้พบ ข้อผิดพลาดในเรซูเม่ เพียงนิดเดียว แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้นายจ้างเริ่มจับผิดว่าจะมีข้อผิดพลาดที่อื่น ๆ อีกหรือไม่ และนายจ้างมีแนวโน้มที่จะไม่พิจารณาเรซูเม่ต่อแม้พบข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันข้อผิดพลาดคือการพริ้นท์ออกมาตรวจสอบหลาย ๆ รอบ ที่สำคัญควรหาบุคคลที่สาม ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนมาช่วยอ่านด้วย
เมื่อคุณตอบคำถามข้างต้นได้แล้ว คุณพร้อมที่จะปัดฝุ่นเรซูเม่ของคุณให้เข้าตานายจ้างแล้วหรือยัง ถ้าใช่ ไปอัพเดทเรซูเม่กันเลย
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ