ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ระบุ โครงสร้างแรงงานไทยมีปัญหาผลิตแรงงานไม่ตรงสาขาอาชีพทำให้เลือก งาน มากกว่าตกงาน
นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์แรงงานในปี 2551 พบว่า ภาคเอกชนไทยยังต้องการใช้แรงงานระดับล่าง ที่จบชั้นประถมและมัธยมต้นมากถึงเกือบ 27 ล้านคนหรือ 72.3% ของการจ้างงาน
อย่างไรก็ดี แรงงานกลุ่มนี้มีเข้าสู่ระบบเพียง 2-3 หมื่นคน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเรียนต่อในระดับสูง เพราะต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามวุฒิการศึกษา กลุ่มแรงงานระดับล่างขาดแคลนชัดเจน และมีอัตราการสูญเสียจากการตายและต้องรับทดแทนแต่ละปีกว่า 2.1 แสนคน
ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับกลางจบ ชั้นมัธยมปลายและปวช.ก็เน้นเรียนต่อ จากผลสำรวจปี 2551 ต้องการมัธยมปลาย-ปวช. 4.7 หมื่นคน ยังมีแรงงานระดับกลางสูงกว่าความต้องการ 2.64 หมื่นคน ในขณะที่มีที่ว่างงานอยู่ 3.55 หมื่นคน แต่การสำรวจสถานประกอบการปี 2551 กลับพบว่ามีความขาดแคลนเกือบสามหมื่นคน
ระดับปริญญาตรี จบปีละ 304,000 คน เรียนต่อ 24% เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละ 207,000 คน ปัจจุบันใช้แรงงานปริญญาตรีราว 3.65 ล้านคน ปริญญาโท 0.46 ล้านคน รวม 4.1 ล้านคน อาจมีขาดแคลนบางสาขา แต่ว่างงานมากกว่าที่ขาดแคลน สาเหตุเป็นเพราะเรียนไม่ตรงสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการ
สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ระดับล่าง มาจากการเริ่มตึงตัวของประชากร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการศึกษา ที่ประชากรวัยแรงงานเริ่มเพิ่มน้อยลงและในที่สุดจะลดลง และคนเหล่านี้อยู่ในตลาดแรงงาน เชื่อมโยงสู่ระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้นแต่ยังขาด การเชื่อมโยงกับส่วนของตลาดแรงงานรองรับ
ดังนั้น จึงเกิดปัญหาเรียนไม่ตรงสาขา และจำนวนมากขาดคุณภาพไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเลือกงานมากขึ้น ทำให้มี ตำแหน่งงานว่าง แต่หาคนทำงานไม่ได้ และในภาพรวมคนจบระดับสูงล้นงาน
"กลุ่มแรงงานระดับล่าง ซึ่งมีความขาดแคลนชัดเจน การแก้ไขระยะสั้นจึงเน้นการนำแรงงานต่างด้าวมาทดแทน" นายสราวุธ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อัตราแรกจ้างพนักงานจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา จากผลการสำรวจค่าจ้างปี 2556 (ตอนที่ 1)