เมื่อคุณสามารถกับคุณเสถียรเพื่อนเก่า กลับมาพบกันอีกครั้ง บทสนทนาต่อไปนี้ก็เริ่มขึ้น
“สวัสดีสามารถเป็นไงบ้าง สบายดีไหม”
“สบายดี นายล่ะเสถียร”
“เราก็สบายดี แล้วนายทำงานเป็นไงบ้าง”
“เราเพิ่งจะเปลี่ยนงานได้ 2 อาทิตย์นี่ล่ะ”
“อะไรนะ เปลี่ยนงานอีกแล้วหรอ เรียนจบมา 2 ปีนายทำงานมา 4 ที่แล้วนะ”
“ก็มันไม่ชอบนี่”
“แล้วนายชอบงานแบบไหนล่ะ”
“อืม..........เราก็ยังไม่รู้เหมือนกัน”
“....”
มีใครชอบเปลี่ยนงานบ่อยเหมือน คุณสามารถบ้างไหมคะ? ทราบหรือไม่ว่า การเปลี่ยนงานบ่อยๆ ไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณเลย มันทำให้คุณไม่มีประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง เหมือนกับว่ารู้หลายอย่างจากที่ทำงานหลายที่ แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งกับอะไรสักอย่าง ทุกๆ ครั้งที่ย้ายที่ทำงาน คุณก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ และพอคุณจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณก็พบว่างานที่คุณทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่คุณยังไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน
มีหลายเหตุผลที่ทำให้คนเราเปลี่ยนงานบ่อยๆ อาจเป็นเพราะเขายังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรอย่างที่คุณสามารถเป็น หรือไม่ก็ยังไม่พร้อมที่จะลุยกับงานท้าทายที่รออยู่ อันนี้จะพบมากในเด็กจบใหม่ พวกเขายังอ่อนต่อโลก และไม่รู้ว่าในชีวิตการทำงานนั้น เป็นโลกของผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบมากมาย เมื่อเห็นว่างานหนักเงินน้อย ก็ดิ้นรน หางาน ที่ใหม่เรื่อยไป จนกว่าจะเจองานที่ถูกใจเข้าสักวัน
การเปลี่ยนงานบ่อยๆ ส่งผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อนายจ้างเห็น ประวัติการทำงาน ของ คุณในแต่ละที่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น มันเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยดีนักให้แก่นายจ้าง ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าคุณจะอยู่กับเขาได้นาน หรือทุ่มเททำงานให้เขาอย่างเต็มที่หรือไม่
โดยทั่วไปแล้วการทำงานในแต่ละที่ควรใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ปีแรกสำหรับการเรียนรู้งาน เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร ปีที่สองสำหรับการทำประโยชน์และผลงานให้กับองค์กร ดังนั้นกว่าที่คุณจะได้เก็บเกี่ยวดอกผลที่ได้ลงแรงไปนั้นจึงต้องใช้เวลา อย่างน้อย 2 ปี หากคุณเปลี่ยนงานก่อนหน้านั้น ก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ทันได้สร้างผลงานสักเท่าไหร่ แล้วคุณจะเอาประสบการณ์ตรงไหนมาใช้เพื่ออัพเงินเดือนอย่างที่คุณอยากได้ล่ะ คะ
องค์กรใหญ่ๆ หลายที่มี การฝึกอบรม ให้กับพนักงาน ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ ใครที่เป็นนายจ้างก็อยากให้ การลงทุน นั้นคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นในการคัดเลือกผู้สมัคร นายจ้างก็ต้องพิจารณาจากจุดนี้ประกอบด้วย ระหว่างผู้สมัครที่มีประวัติเปลี่ยนงานบ่อย กับผู้สมัครที่มีประวัติการทำงานที่มั่นคง คุณคิดว่านายจ้างจะเลือกคนไหนเข้าทำงาน แน่นอนนายจ้างย่อมต้องเลือกคนที่มีเป้าหมายในการทำงานไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายขององค์กร ผู้สมัครที่ทำงานในแต่ละที่เป็นเวลานานย่อมมีภาษีดีกว่าผู้สมัครที่ดูไม่มี จุดมุ่งหมาย เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ทำให้นายจ้างมั่นใจในระดับหนึ่งว่า พนักงานที่เขาคัดเลือกมาจะไม่สละเรือกลางคัน ปล่อยให้เขาลงทุนไปฟรีๆ โดยไม่ได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมา
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เข้าข่ายเปลี่ยนงานบ่อย ถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะหาตัวเองให้เจอ เพื่อที่คุณจะได้มุ่งเป้าหมายไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คุณต้องการอย่างแท้ จริง เริ่มจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ ดูว่าเราสนใจในเรื่องใด จากนั้นก็สอบถามจากเพื่อนฝูงที่รู้จักกับคนที่ทำงานในสายงานที่คุณสนใจ เพื่อที่จะพูดคุย ซักถามข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคุณ เช่น ความคาดหวังขององค์กร สไตล์การทำงาน และบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งที่คุณสนใจ ซึ่งคุณอาจจะไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะทำให้คุณได้ไอเดียบางอย่าง เมื่อคุณมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น โอกาสที่จะเปลี่ยนงานบ่อยๆ จะน้อยลง
และเมื่อคุณหาตัวเองเจอแล้ว ต่อไปก็คือหาองค์กรที่เขาเปิดโอกาสให้คุณได้ฝึกอบรม นำทักษะและความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลงาน ซึ่งจะนำพาคุณไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานที่มั่นคง ที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากคุณ เพราะมันจะเป็นชื่อเสียงและเกียรติประวัติติดตัวคุณตลอดไป
รีบหาตัวเองให้พบนะคะ ยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งได้เปรียบค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ