จากการสำรวจ ผู้ประกอบการมองหาอะไรจากเด็กจบใหม่ ที่ทาง jobsDB ได้จัดทำขึ้น พบว่า การที่สามารถ ทำงานเป็นทีม ได้ นั้น เป็น 1 ใน 3 คุณสมบัติสำคัญที่ผู้ประกอบการต่างก็มองหาในตัวพนักงาน เพราะพลังจากการร่วมแรงร่วมใจนั้นสามารถเพิ่มทั้งความรวดเร็ว ช่วยในการตัดสินใจและยกระดับความคิดสร้างสรรค์ในผลงานได้เป็นอย่างดี แต่การเป็นพนักงานหน้าใหม่ที่ต้องมาร่วมงานกับรุ่นพี่นั้น บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของทีมทันทีที่เริ่มงาน ใครที่กำลังสับสนและไม่รู้จะเริ่มตรงไหน 6 วิธีที่ทาง jobsDB ขอแนะนำต่อไปนี้สามารถช่วยฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมให้คุณได้
1. รู้จุดแข็งของตัวเอง
ในแต่ละทีมงานย่อมประกอบไปด้วยหลายหน้าที่ แต่ละหน้าที่ต่างก็ต้องการความสามารถหรือทักษะที่แตกต่างกันออกไป หากคุณรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านใด คุณจะสามารถเสนอตัวช่วยรับผิดชอบในส่วนนั้นได้ ความสามารถนี้อาจจะเป็นความรู้ทางด้านเทคนิค การติดต่อประสานงาน การค้นคว้าหาข้อมูลหรือด้านใดก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่องาน เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดก็ย่อมสร้างผลงานออกมาได้ดีและทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นอีกด้วย
ข้อแนะนำ:หากยังไม่มั่นใจกับความสามารถของตัวเอง อาจจะลองเริ่มจากเสนอตัวช่วยในงานชิ้นเล็กให้สำเร็จก่อนเพื่อเพิ่มความมั่นใจ
2. รู้จักเพื่อนร่วมทีม
ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีนั้นสามารถส่งผลให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้เสมอ อย่ารู้จักกันแค่เฉพาะเวลางาน หาโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากงานบ้าง ทำความรู้จักและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างจริงใจ คอยสนับสนุนช่วยเหลือในยามที่พวกเขาต้องการ สิ่งนี้จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ข้อแนะนำ:นอกจากความสัมพันธ์กันแบบ “เพื่อนร่วมงาน” แล้ว เราควรเป็น “เพื่อน” กับทุกคนในทีมได้ด้วย
3. รู้จักและเข้าใจความแตกต่าง
สมาชิกแต่ละคนในทีมย่อมมาจากต่างประสบการณ์ ต่างครอบครัว ทั้งนิสัยและการทำงานย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ควรพยายามเรียนรู้สไตล์การทำงานของแต่ละคน จากนั้นทำความเข้าใจและยอมรับในรูปแบบที่พวกเขาเป็น แทนที่จะมัวแต่หงุดหงิดกับการทำงานที่ไม่ได้ดังใจตัวเอง เราควรหาวิธีสร้างความร่วมมือและผลงานให้ได้ดีที่สุดจากความแตกต่างนี้
ข้อแนะนำ:อย่าใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผู้อื่น แต่ให้สังเกตและเรียนรู้พวกเขาด้วยใจเป็นกลาง
4. รู้เวลา
การทำงานเป็นทีมนั้น ความล่าช้าที่เกิดจากคนหนึ่งคนสามารถส่งผลถึงทั้งทีมได้ ดังนั้นความตรงต่อเวลาจึงสำคัญมาก หากได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งควรประเมินเบื้องต้นก่อนว่าจะทำได้สำเร็จตามเวลาที่ได้รับมอบหมายมาหรือไม่ และทำการเจรจาต่อรองจนได้ระยะเวลาที่ทั้งทีมรับได้และตัวเราเองก็มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานให้ได้ดีด้วย
ข้อแนะนำ:หากรับงานมาแล้วพบในภายหลังว่าไม่สามารถทำตามเวลาที่กำหนดได้ ให้รีบแจ้งเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าทันทีเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออก อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้าย หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่มีความสามารถ การที่เรารับปากแล้วทำตามไม่ได้แต่ยังไม่รีบหาทางออกนั้นส่งผลเสียกว่ากันมาก
5. รู้จักฟังและมีการ สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดใจ แต่ก็อย่าเป็นผู้ฟังอย่างเดียวจนเอาแต่นั่งเงียบในที่ประชุมเพราะจะทำให้เหมือนกับไม่ให้ความร่วมมือ หากมีไอเดียใดที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานก็ควรนำเสนอต่อทีมหรือที่ประชุม หรือหากมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถโต้แย้งได้อย่างสุภาพและใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน
ข้อแนะนำ:หากไม่รู้จะเสนออะไรหรือมีความรู้ในเรื่องนั้นไม่มากพอ ควรทำการบ้านศึกษาหาข้อมูลก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง
6. รู้และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติสำหรับชีวิตมนุษย์ ไม่ต่างกับชีวิตของการทำงาน ยิ่งเป็นการทำงานที่มีผู้คนเกี่ยวข้องแล้วนั้น ในบางครั้งเราอาจต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากเพื่อนร่วมงานที่ลาออกกระทันหัน หรือโปรเจคอาจถูกเปลี่ยนมือไปให้คนใหม่ อะไรต่างก็เกิดขึ้นได้เสมอ จงเตรียมใจให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงด้วยสติและปรับตัวตามให้ดีที่สุด
ข้อแนะนำ:ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า อย่าเพิ่งใช้อารมณ์ ควรปลีกตัวออกไปสงบสติสักพักก่อนกลับมารับมือกับความเปลี่ยนแปลง
แม้จะเป็นพนักงานหน้าใหม่ แต่เราก็สามารถเป็นสมาชิกยอดเยี่ยมของทีมได้ ขอเพียงความตั้งใจจริงและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หากมีโอกาสได้รับมอบหมายงานหรือโปรเจคใดที่แม้จะดูยาก ขอให้มองเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสให้ฝึกฝนและแสดงฝีมือ เพราะยิ่งทำมากเราก็จะยิ่งได้เรียนรู้มากและเก่งขึ้นตามไปด้วย
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ