ในแต่ละองค์กรประกอบด้วยพนักงานจากหลากหลายที่มา ทำให้มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง มีทั้งพนักงานดาวเด่น ไปจนถึงพนักงานเจ้าปัญหา ที่มักจะมีเรื่องราวให้ เจ้านาย ต้องปวดหัวอยู่เสมอ เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญหน้ากับ พนักงานเจ้าปัญหา เหล่านั้นไม่ได้
พนักงานบางส่วน คือคนที่สร้างความสำเร็จให้กับองค์กร แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีพนักงานบางส่วนที่ทำให้องค์กรไม่สามารถเดินหน้าไปได้ดีเท่าที่ควร เป็นปัญหาที่องค์กรต้องจัดการแก้ไขพนักงานให้อยู่ในระบบระเบียบมากขึ้น
มาดูกันว่ามีพนักงานแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายการเป็นพนักงานเจ้าปัญหา และควรมีวิธีแก้ไขอย่างไร จึงจะทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าไปได้อย่างเป็นมีประสิทธิภาพ และพนักงานอยู่ในระเบียบมากขึ้น แนวทางต่อไปนี้ คือตัวอย่างของพนักงานที่ฉุดรั้งองค์กร 4 ประเภท มาสำรวจดูว่าในองค์กรที่ของเรา มีพนักงานประเภทนี้อยู่บ้างหรือไม่
1. ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
พนักงานที่ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นพนักงานอีกประเภทหนึ่งที่มักจะเป็นอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ ขององค์กร เพราะบุคคลเหล่านี้มักจะรู้สึกว่าของเก่าย่อมดีกว่าของใหม่ การนำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่องค์กร จะทำให้องค์กรสูญเสียตัวตนที่เคยมีมา
องค์กรต้องชี้ให้เห็นข้อดีและข้อเสียว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง องค์กรและพนักงานจะได้ประโยชน์อะไรจากการปรับเปลี่ยนนี้ แต่ไม่ควรต่อต้านแนวคิดเดิม หรือบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ควรเริ่มต้นทำความเข้าใจ และให้พนักงานยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์กรเสียก่อน
2. ทำงานใน Comfort Zone
พนักงานที่ชอบทำงานที่เน้นความสะดวกสบายที่องค์กรมอบให้ โดยบางทีอาจลืมนึกถึงการ พัฒนาศักยภาพในการทำงาน หรือนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เป็นพนักงานอีกประเภทหนึ่งที่องค์กรต้องพิจารณาว่ากำลังจะฉุดรั้งองค์กรให้พัฒนาช้าลง พนักงานประเภทนี้จะไม่ค่อยมีแรงผลักดันในตัวเอง ค่อย ๆ ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก
พนักงานที่มักอยู่ใน Comfort Zone องค์กรควรเพิ่มแรงกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวใน การทำงาน ให้มากกว่าเดิม เพื่อที่พนักงานจะได้เข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และมีความมุ่งมั่นให้มากกว่าเดิม ทำให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพในการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
3. ขาดวินัยในการทำงาน
แม้ว่าบริษัทที่จะมีความยืดหยุ่นมากขนาดไหนก็ตาม แต่การที่พนักงานเข้ามาทำงานสาย แล้วออกเร็วเป็นประจำ ไม่เพียงแต่จะทำให้เขาทำ งาน ได้น้อยลง แต่ยังเป็นการไม่รักษามารยาทต่อเพื่อนร่วมงานด้วย เพราะต้องเสียเวลารองานจากพนักงานที่มาสาย หากเป็นการทำงานที่ต้องทำต่อเนื่อง จะทำให้องค์กรพัฒนาได้ช้าลงอีกด้วย
องค์กรควรมีมาตรการในการจัดการกับพนักงานที่ขาดวินัยในการทำงาน เช่น เมื่อมาสาย ควรมีบทลงโทษ เพื่อที่เขาจะได้ไม่กล้าทำผิดกฎเกณฑ์อีกในครั้งต่อไป การตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตนเอง และในขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องสร้างวินัยในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตามได้
4. มองโลกด้วยทัศนคติเชิงลบ
การทำงานด้วยทัศนคติที่ไม่ดี หรือมักมองโลกในแง่ลบตลอดเวลา จะทำให้การทำงานในแต่ละวันไม่มีคุณภาพ เพราะพนักงานคนนั้นจะรู้สึกไม่มีความสุข และไม่เต็มใจทำงาน ผลงานที่ออกมาก็เพียงแค่ทำให้เสร็จ ๆ ไปวัน ๆ ไม่ได้มีความตั้งใจจริง พูดง่าย ๆ ก็คือ หากพนักงานยังคงมีแนวคิดแง่ลบต่อองค์กร เขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรพัฒนาช้าลง
การปรับทัศนคติ ของพนักงานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่องค์กรต้องทดลองปรับความเข้าใจกับพนักงาน ให้พนักงานเกิดความมุ่งมั่นและตั้งใจอยากทำงานอย่างเต็มที่ ลองตั้งคำถามกับพนักงานดู ว่ามีสิ่งใดที่ทำพนักงานมีความคิดอย่างนั้นหรือไม่ หากมีแล้วเกี่ยวกับองค์กร ผู้บริหารควรรีบหาทางแก้ไข หรือเคลียร์ใจกับพนักงานให้เร็วที่สุด
พนักงานที่ฉุดรั้งองค์กรมีให้เห็นได้ทั่วไปแทบทุกองค์กร แต่การค้นหาและหาทางแก้ไข จะช่วยให้องค์กรสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม องค์กรต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ก่อนที่จะปล่อยให้ปัญหาบานปลาย ค่อย ๆ เริ่มต้นจากการจัดการปัญหาด้วยการใช้ไม้อ่อน โดยพิจารณาว่าพนักงานเจ้าปัญหาขององค์กรนั้นมีปัญหาอยู่ในระดับใด
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ