12 สไตล์พนักงาน ที่ทุกองค์กรต่างส่ายหน้า

12 สไตล์พนักงาน ที่ทุกองค์กรต่างส่ายหน้า
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share


ทุกบริษัทหรือทุกองค์กรล้วนก็อยากร่วมงานกันพนักงานที่มีคุณภาพด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นส่วนช่วยให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จ ยิ่งถ้าบริษัทนั้นๆ มีพนักงานคุณภาพอยู่ในมือด้วยแล้ว ก็ยากที่บริษัทจะบอมไปคนดีๆ ไปให้กับคู่แข่งอย่างแน่นอน

แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทนั้นๆ กลับต้องเจอพนักงานที่ไร้คุณภาพ ก็คงไม่อยากที่จะเก็บไว้ให้ต้องเสียโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน สู้เอาเวลาไปมุ่งหน้าเฟ้นหาพนักงานคนอื่นๆ ที่มีความสามารถ มาเสริมทัพเสียดีกว่า โดยในวันนี้จะเราจะมาพูดถึงพนักงานทั้ง 12 แบบ ที่ทุกองค์กรต่างไม่อยากร่วมงานด้วย มาดูกันว่าจะมีคนประเภทไหนบ้าง

พนักงาน 12 แบบ ที่องค์กรต้องร้องยี้

เป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรจะคาดหวังให้พนักงานทุกคนเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความสามารถ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังไงทุกบริษัทก็จะต้องบุคคลที่เมื่อนายจ้างได้พบเจอ กลับต้องร้องยี้และไม่อยากร่วมงานด้วยแทบทั้งสิ้น

พนักงานทั้ง 12 แบบ ที่ทุกองค์กรต่างพร้อมใจกันเซย์โน มีดังนี้

1. คนที่ทำงานไปวันๆ

เริ่มต้นด้วยคนประเภทที่ทำงานแบบขอไปที ตื่นมาทำงานแล้วก็นับเวลารอเลิกงาน แต่ในระหว่างวันแทบไม่ใส่ใจในเนื้องาน หรือสนใจที่จะพัฒนาตนเองเลย หากเพื่อนร่วมงานประสบปัญหา ก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ยื่นมือเข้าช่วย หรือถ้าหากใครมาขอความช่วยเหลือ ก็มักจะบอกปัดแทบทุกครั้งไป หรือถ้าแย่ไปกว่านั้นก็คือ ถ้าหากตัวเองมีความผิด ก็จะไม่ยอมรับในความผิดนั้น แล้วป้ายสีให้คนอื่น หรือโทษลมโทษฟ้าไปเสียอย่างนั้น

2. นักวิจารณ์

บุคคลประเภทนี้มักมองทุกอย่างในแง่ลบอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของงานหรือแม้กระทั่งเรื่องราวทั่วไปของบริษัท หากมีอะไรที่ไม่พอใจหรือไม่ถูกใจ เขาคนนี้ก็มักที่จะออกความเห็นหรือวิจารณ์เรื่องราวต่างๆ อย่างเสียหาย แถมยังมองว่าทุกสิ่งที่บริษัทเป็นเรื่องที่ผิดไปเสียหมด แต่ก็ยังทำงานรับเงินเดือนกับที่บริษัทนี้ต่อไปแบบขอไปที

3. คนที่ไม่พัฒนาตัวเอง

บางครั้งเรื่องราวของโอกาสดีๆ ไม่ได้มีมาบ่อยๆ แต่คนประเภทนี้มักไม่อยากก้าวออกจากกรอบ แม้บริษัทจะหยิบยื่นข้อเสนออันโอชะให้ เช่น การส่งไปเทคคอร์สพิเศษ การส่งตัวไปศึกษาดูงาน หรือแม้กระทั่งการมอบหมายหน้าที่สำคัญให้ เป็นต้น โดยคนพวกนี้มักปฏิเสธว่าตนเองไม่พร้อม ยังไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจุดนี้ก็อาจทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ได้ เพราะจะไม่มีคนที่จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนของงานที่มีการขยับขยายเพิ่มขึ้น

4. ป่วยทิพย์

แม้เรื่องของการลาป่วยจะมีสิทธิที่พนักงานทุกคนพึงได้รับตามกฎหมายที่ระบุไว้ให้จำนวน 30 วันต่อปี แต่พนักงานบางคนก็ใช้ช่องโหว่ตรงนี้ในการมาเล่นแง่กับบริษัทในการใช้วันลาป่วย แต่แท้จริงแล้วคือการป่วยทิพย์ แต่แค่อยากหยุดเฉยๆ ก็แค่นั้น โดยผลสำรวจจากพนักงานและนายจ้างจำนวน 2,800 คน บอกไว้ว่ามีการยื่นลาป่วยแบบที่ไม่ได้ป่วยจริงมากถึง 32 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หากพูดง่ายๆ ก็คือ มีการใช้ลาป่วยทิพย์อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 1 ปี แถมคนไหนที่ร้ายๆ หน่อยก็ใช้กันมากกว่า 1 ครั้งอีกต่างหาก

5. เวลาไม่ช่วยอะไร

พนักงานประเภทนี้มักมีนาฬิกาไว้เป็นแค่เครื่องประดับ แต่แทบไม่ได้สนใจเวลาที่อยู่บนข้อมือเลย ไม่ว่าจะเป็นการเข้างานที่สายเกินกำหนด ตามมาด้วยการพักระหว่างวันที่เกินเวลางาน หรือออกไปกินข้าวเที่ยง แล้วกลับเข้าออฟฟิศช้าจนน่าเกลียด ลากยาวไปจนถึงเรื่องของเนื้องาน ที่ไม่สามารถส่งงานได้ตรงตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งข้อสุดท้ายนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นงานได้รับมอบหมายจากลูกค้า แล้วส่งไม่ทันตามกำหนดเวลา ก็อาจส่งผลเสียให้แก่ชื่อเสียงบริษัท หรือทำให้บริษัทขาดความน่าเชื่อถือจากลูกค้าเจ้านั้นก็เป็นได้

6. นินทาคนอื่นเป็นกิจวัตร

เรื่องราวของการนินทาแม้จะมีอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์เงินเดือน ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นการนินทาเล็กๆ น้อยๆ แบบขำๆ พอหอมปากหอมคอ อาจเป็นสิ่งที่พอรับได้ แต่ถ้าเกิดการนินทานั้นดูหนักข้อขึ้น จนเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในออฟฟิศ หรือพาลให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงานแล้วล่ะก็ แบบนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลไม่ดีต่อองค์กรอย่างแน่นอน

7. สร้างกลิ่นทำลายบรรยากาศ

สุขอนามัยถือเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิตกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นปาก กลิ่นตัว หรือแม้กระทั่งกลิ่นอื่นๆ ที่เกิดจากการเรอหรือผายลม รวมไปถึงกลิ่นฉุนจากอาหาร สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงาน พร้อมสร้างความรำคาญใจให้เพื่อนร่วมงานเป็นแน่แท้

8. คุยโทรศัพท์ส่วนตัวในเวลางาน

เข้าใจว่าทุกคนย่อมมีชีวิตและภาระส่วนตัว ดังนั้นจริงๆ แล้วการคุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัวในเวลางาน อาจจะไม่เรื่องที่ผิดอะไรนัก เพราะทุกคนย่อมมีธุระและเรื่องด่วนกันได้เสมอ แต่บางคนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขาดันเอาเวลาไปงานไปโทรศัพท์คุยเล่นกับเพื่อนในเรื่องที่ไม่จำเป็นบ้าง หรือหายตัวไปจากโต๊ะทำงาน เพื่อคุยโทรศัพท์นานๆ บ้าง ที่แย่ไปกว่านั้นคือบางคนก็โทรศัพท์กันที่โต๊ะทำงานไปเลย แถมยังพูดเสียงดังอีกต่างหาก ทำให้เกิดการรบกวนและทำลายสมาธิการทำงานของคนอื่นๆ ได้ แถมยังอาจทำให้กระทบกับงานที่ทำอยู่อีกด้วย

9. รับบทแม่ค้า เปิดตลาดขายของ

สมัยนี้หลายคนมักหารายได้เสริมกันทั้งนั้น โดยการขายของออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่หลายคนนิยมทำ ดังนั้นการนำสินค้ามาให้ขายให้แก่เพื่อนๆ ในออฟฟิศ ก็อาจไม่เรื่องแปลกและไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไรนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้คำว่ากาละเทศะด้วยเช่นกัน หากการขายของเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เสียการเสียงานได้ หรือบางเคสดันมีการใช้อีเมลของออฟฟิศหรือกลุ่มแชทสำหรับเรื่องานเพื่อการโปรโมทสินค้าตัวเอง แบบนี้ก็ถือว่าไม่เหมาะสมสักเท่าไรนัก

10. ทำตัวเป็นโทรโข่ง

จริงอยู่ที่ทุกการทำงานต้องมีการคุยกันเพื่อการสื่อสารที่เคลียร์และชัดเจน ไม่ให้เกิดการผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งหากบทสนทนาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ หรือจะเป็นการคุยเล่นเพื่อผ่อนคลายในระยะเวลาสั้นๆ จากงานที่ตึงเครียด ก็ย่อมพออนุโลมได้ แต่ถ้าหากเสียงที่เกิดขึ้น ดันเป็นเสียงเพลงจากลำโพง เสียงหัวเราะพูดคุยหยอกล้อกันตลอดทั้งวัน ย่อมก่อให้เกิดการทำลายสมาธิในการทำงานของเพื่อนร่วมงานแน่ๆ

11. ชีพจรลงเท้า

บางคนเดินเก่งยิ่งกว่านักวิ่งมาราธอน เพราะจะมีพนักงานบางบวกที่ชอบเดินไปคุยกับคนนู้นทีคนนี้ที เดินไปหากันแบบข้ามแผนก แล้วยืนเม้าท์กันแบบนานเกินเหตุ ซึ่งปัญหานี้จะพบได้ในหลายๆ องค์กร เสมือนกาารเข้าสังคมกลายๆ แต่บางคนอาจลืมไปว่า ทุกแผนกย่อมมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป และในคนแผนกนั้นๆ ก็ไม่ได้รู้จักหรือสนิทกับเราทุกคน ดังนั้นการที่คนประเภทนี้เดินไปหาเพื่อนต่างแผนกในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจสร้างความรำคาญใจให้แก่พนักงานร่วมออฟฟิศคนอื่นๆ ได้ แถมยังไม่เป็นผลดีต่อการทำงานด้วย

12. เคลมทุกอย่างเป็นผลงานตัวเอง

เคยไหมที่ทำงานแทบตายแบบถวายหัว แต่สุดท้ายโดนเพื่อนร่วมงานขโมยเครดิตไปเสียอย่างนั้น บุคคลจำพวกนี้ก็สามารถเจอได้บ่อยเช่นกัน ในขณะที่เริ่มงานตั้งแต่การเบรนสตรอมตลอดไปจนถึงขั้นตอนการลงมือทำงาน กลับหายหัว หรือผลุบๆ โผล่ๆ ไม่แสดงไอเดียหรือลงมือทำสักเท่าไร แต่เมื่อถึงเวลาที่งานชิ้นนั้นประสบความสำเร็จหรือได้รับผิดชอบ กลับรีบโผล่มาเคลมผลงานแบบติดสปีด หรือถ้างานชิ้นนั้นเกิดมีข้อผิดพลาด ก็โยนความผิดให้เพื่อนร่วมทีมเสียด้วยซ้ำ

สรุปพนักงานทั้ง 12 แบบ ที่ทุกองค์กรต่างส่ายหน้า

นี่คือตัวอย่างของพนักงานทั้ง 12 สไตล์ที่มีพฤติกรรมก่อกวนเพื่อนร่วมงาน จนกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับหลายคนในออฟฟิศ รวมไปถึงการส่งผลเสียแก่เนื้องานและบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากใครมีพฤติกรรมก็ควรจะปรับปรุงตัว เพราะแน่นอนว่ายังมีคนมีความสามารถอีกมากมายที่บริษัทอยากรับมาร่วมงานด้วย หากคุณทำพฤติกรรมบ่อยครั้งเข้า อาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานของคุณ ส่วนใครที่กำลังเผชิญเพื่อนร่วมงานสไตล์นี้อยู่ ลองหาโอกาสพูดคุยกับเขาดู จะได้เกิดการปรับปรุงตัว และเป็นการทวงคืนบรรยากาศการทำงานที่ดีกลับมาอีกครั้ง

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%94-%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%87/

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา