ในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาอาจได้รับรายงานการ ลาป่วย ของพนักงานบ่อยครั้ง โดยมักจะลาป่วย เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดหัว ไข้ขึ้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากใครมีพฤติกรรมลาป่วยบ่อย ๆ จนผิดสังเกต ควรเรียกตัวมาพูดคุยซักถามถึงสาเหตุการลาป่วยบ่อย ๆ ถามถึงปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัว เพื่อทราบเหตุผลที่แท้จริงและหาทางแก้ไขช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำได้
แต่หากการลาป่วยของพนักงานบางคนชวนให้สงสัยว่า ป่วยการเมืองหรือไม่ มีข้อสังเกตดังนี้
- มักจะลาหยุดงานเพียง 1-2 วัน ซึ่งไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์
- ลาในช่วงต่อเนื่องกับวันหยุด เช่น ลาป่วยในวันจันทร์ หรือวันศุกร์ ลาป่วยก่อน หรือหลังวันหยุดตามประเพณีเป็นประจำ
- แม้ว่าการลาหยุดเช่นนี้จะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัท แต่ HR ก็ไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ เพราะจะทำให้เสียการปกครอง และพลอยทำให้พนักงานคนอื่น ๆ ทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีนี้ด้วย ต่อไปนี้คือสิ่งที่ HR หรือหัวหน้างานของลูกน้องจอมป่วย “การเมือง” ใช้จัดการกับพนักงานที่ลาป่วยบ่อย
- ให้พนักงานมารายงานอาการป่วยในวันแรกที่กลับมาทำงาน โดย HR ทำการจดบันทึกอาการป่วยของลูกน้องอย่างละเอียด เพื่อที่ว่าเมื่อลูกน้องจะลาป่วยครั้งต่อไป จะคิดหนักขึ้นว่าจะป่วยอะไรดี จึงจะสมเหตุสมผล และไม่ถูกจับได้ ซึ่งวิธีการนี้อาจช่วยลดสถิติการลาป่วยของพนักงานได้บ้าง
- ประกาศให้พนักงานทราบว่า การขาด ลา มาสาย มีผลต่อการขึ้นเงินเดือน และโบนัส หากขาดงานเกินกี่วัน มาสายเกินกี่ครั้ง จะไม่ขึ้นเงินเดือนและตัดโบนัส เป็นต้น
- HR ต้องจับตาดูพฤติกรรมการลาหยุดงานของพนักงานอย่างใกล้ชิด อาจสุ่มไปที่บ้านของพนักงานโดยไม่ให้รู้ตัว เพื่อเยี่ยมไข้ และสอบถามอาการ รวมทั้งตรวจสอบการลาป่วยในครั้งนั้นด้วย
- หากพฤติกรรมการลาเป็นที่น่าเอือมระอามาก ให้สอบถามว่าพนักงานไปรักษาที่คลินิก หรือโรงพยาบาลใด แล้วไปขอดูทะเบียนคนไข้ว่ามารักษาจริงหรือไม่
- หากทราบว่ามีพฤติกรรมการลาที่ไม่ถูกต้อง ในบางรายอาจให้แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วย
- ในกรณีที่ใช้พนักงานใช้สิทธิ์ลาป่วยครบ 30 วันแล้ว ให้แจ้งพนักงานว่า หากลาป่วยครั้งต่อไป จะพิจารณาให้ลาโดยไม่รับเงินเดือนแทน ซึ่งไม่ว่าพนักงานจะลากี่วัน ก็จะหักเงินในทุก ๆ วันที่ลาหยุด
- กำหนดบทลงโทษการลาป่วยเท็จที่รุนแรงเชิงบริหาร และเชิงข้อกฎหมายถึงขั้นเลิกจ้างได้
- หากพบว่าอาการป่วยส่งผลต่อการทำงาน นายจ้างมีสิทธิพิจารณาเลิกจ้าง เนื่องจากพนักงานหย่อนสมรรถภาพในการทำงานได้ โดยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด
ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ลูกจ้าสามารถลาป่วยได้ถึง 30 วันต่อปี แต่ในบางรายที่การขาดงานบ่อยครั้งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานแล้วล่ะก็ ผู้บังคับบัญชาไม่ควรนิ่งเฉย ควรหามาตรการตักเตือน หรือบทลงโทษที่เด็ดขาดมาจัดการกับพนักงานเหล่านี้ เพื่อไม่ให้พนักงานดี ๆ พลอยเข้าลัทธิเอาอย่างให้เสียการปกครอง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กฎหมายแรงงาน วันลาหยุด
ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย เปรียบเทียบปี 58 และปี 51