อะไรดีกว่ากัน ระหว่างพนักงานที่เก่งและพนักงานที่ทัศคติดีเป็นคำถามที่มีกันมานานในแวดวง งานบริหารทรัพยากรบุคคล ในขณะเดียวกันทางด้านตัวพนักงานเองก็มักจะมีคำถามนี้ในใจเช่นกันว่า หากถึงเวลาต้องเลือก นายจ้างอยากจะได้พนักงานแบบไหนมากกว่ากันแน่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เรามาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของพนักงานสองแบบนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ
ผลงานเด่น
ถ้าพูดกันด้วยเรื่องผลงาน คงต้องยกให้พนักงานเก่งอยู่แล้ว ขึ้นชื่อว่าเก่งย่อมสามารถทำงานชิ้นเดียวกันได้ดี รวดเร็วและมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าพนักงานที่มีแต่ทัศคติดีอย่างเดียวแต่ขาดฝีมือ ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้าเองก็ไม่ต้องเหนื่อยแรงคอยช่วยเหลือ หรือติดตามผลมากเท่าใดนักอีกด้วย
ดังนั้นในด้านผลงาน พนักงานเก่งได้ไปก่อน 1 คะแนนค่ะ
แก้ไขปัญหาเป็น
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องเจอปัญหาและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอยู่เป็นประจำในการทำงาน หากมองเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วหลาย ๆ คนอาจคิดว่าต้องเป็นพนักงานเก่งเท่านั้นที่จะทำได้ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วพนักงานทัศนคติดีก็สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีไม่แพ้กันค่ะ ขึ้นอยู่ว่าปัญหาเป็นเรื่องใด หากเป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ข้อมูล หรือเรื่องงานล้วน ๆ คงต้องยกให้พนักงานเก่ง แต่เมื่อไรที่เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องคน หรือการร้องเรียนจากลูกค้า พนักงานทัศนคติดีก็อาจสามารถรับมือได้ดีเช่นกัน
ด้านการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าพนักงานทั้งสองกลุ่มจึงได้คะแนนเสมอกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ
รู้จัก ทำงานเป็นทีม
เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันเป็นทีม คนเก่งแต่ขาดทัศนคติที่ดีจะเริ่มมีปัญหา เพราะคนเก่งส่วนมากจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง คิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด และเคยชินกับการสร้างผลงานด้วยตัวเอง บางครั้งการได้มาร่วมงานกับคนที่ฝีมือด้อยกว่าตัวเอง อาจทำให้เกิดความหงุดหงิดไม่ทันใจ ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น จนกลายเป็นปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ในทีมไป แต่ถ้าเพื่อนร่วมทีมยอมทำตามก็มักจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีเลิศออกมาได้ในที่สุด ใครยังมองภาพไม่ออก อาจจะลองอ่านประวัติของ Steve Jobs เพิ่มเติมนะคะ แล้วจะเห็นว่าการทำงานร่วมกับคนเก่งมาก ๆ เป็นงานที่มีความกดดันสูงแต่ก็สามารถสร้างผลงานที่เปลี่ยนแปลงคนทั้งโลกได้ ในทางกลับกันคนทัศนคติดีมักจะเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ง่ายจึงไม่ค่อยมีปัญหาในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ดังนั้นหากมองในภาพรวมแล้วอาจจะดูเหมือนว่าคนทัศนคติดีจะสามารถทำได้ดีกว่าในข้อนี้ แต่ถ้าทั้งทีมมีแต่ทัศนคติดีโดยขาดคนมีฝีมืออย่างสิ้นเชิง ก็พอจะเป็นที่คาดเดาได้ว่าผลงานอาจจะออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก แม้จะฟังดูโหดร้ายแต่ทีมที่ไม่สร้างผลงานก็เท่ากับการไม่สร้างคุณค่าและผลกำไรให้องค์กร
ในส่วนของการทำงานเป็นทีมจึงยังมีคะแนนสูสีกันและขอให้เป็นเสมอค่ะเพราะคนเก่งมีแนวโน้มจะนำทีมให้สร้างผลงานได้ดีกว่าแต่คนทัศคติดีจะรักษาความสัมพันธ์และทีมเวิร์คเอาไว้ได้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าในระยะยาว
มีจริยธรรมในการทำงาน
จริยธรรมในการทำงานเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ การทำงานต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมาตรวจสอบได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อชื่อเสียงและความยั่งยืนของบริษัท ในข้อนี้อาจจะไม่ชัดเจนว่าการเป็นคนเก่งแต่ขาดทัศคติที่ดีจะต้องเป็นคนไม่ดีด้วยเสมอไป แต่ด้วยความที่คนกลุ่มนี้มักจะมีความคิดเร็วกว่าคนทั่วไป หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาจึงอาจจะกลายเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ตัวเองไปโดยไม่ตั้งใจ ตัวอย่างในกรณีนี้เช่น เรื่องของ จอร์แดน เบลฟอร์ด นักขายที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกที่ครั้งหนึ่งเคยเดินก้าวข้ามเส้นจริยธรรมในการหาเงินเข้าบริษัทจนต้องไปนอนในคุกอยู่ 3 ปี (ลองดูหนังสือหรือหนังเรื่อง The Wolf of Wall Street เพิ่มเติมค่ะ) และยังมีอีกหลายคดีดัง ๆ ในโลกที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นแม้คนเก่งจะยังนำในเรื่องการสร้างผลงาน แต่ผลงานที่ได้มาโดยไม่สุจริตจะไม่เป็นความยั่งยืนและกลับส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทอย่างรุนแรงยิ่งกว่า
ข้อนี้พนักงานทัศนคติดีจึงมีแต้มต่อ เพราะพวกเขาจะเลือกแต่ทางที่ถูกต้องในการทำงานเท่านั้นซึ่งแม้จะต้องใช้เวลานานแต่ในที่สุดจะได้ผลลัพธ์ยั่งยืนกว่า
สร้างโอกาสในการพัฒนา
ข้อนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะการบริหารบริษัทเราต้องมองระยะยาว คนเก่งมักจะมีปัญหาในเรื่องนี้เพราะพวกเขามักจะมั่นใจในความสามารถของตัวเองจนไม่ยอมรับฟังคนอื่น หัวหน้าจึงไม่ค่อยเหนื่อยดูแลเรื่องงานแต่พอเป็นเรื่องการบริหารบุคคลมักจะเหนื่อยกับกลุ่มนี้มากกว่าคนทัศคติดี คนมีทัศคติที่ดีนั้นมักจะเป็นกลุ่มคนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และ พัฒนาการทำงาน ของตนเอง ยินดีรับฟังข้อติชมจากผู้อื่น และรับมาปรับปรุงแก้ไขให้ตัวเองดีขึ้น ดังนั้นถ้ามองเรื่องการพัฒนาบุคลากรในระยะยาวแล้วคนทัศนคติดีย่อมมีแต้มต่อ เพราะพวกเขาจะค่อย ๆ เพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนทัศนคติดีที่ทำงานเก่ง ในขณะที่การจะปรับให้คนเก่งมามีทัศนคติดีก็พอจะเป็นไปได้ แต่ทุกคนคงพอเข้าใจว่าการเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ทางเทคนิคย่อมง่ายกว่าการแก้ไขนิสัยของคนแต่ละคน จริงไหมคะ
ในเรื่องนี้จึงต้องมอบคะแนนให้พนักงานทัศคติดีอย่างไม่ต้องสงสัย
จากการเปรียบเทียบทั้ง 5 ด้านจะเห็นได้ว่าพนักงานทัศนคติดีดูจะได้คะแนนสูงกว่าอยู่เล็กน้อย เพราะหากเปรียบเทียบกันในระยะยาวแล้วพวกเขาจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรชั้นเยี่ยมที่มีครบทั้งความสามารถและทัศนคติที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วโลกแห่งการทำงานก็ไม่สามารถขาดพนักงานเก่งได้เช่นกันนะคะ ในหลายธุรกิจย่อมต้องการคนเก่งเข้ามาช่วยก่อร่างสร้างตัวหรือช่วยแก้วิกฤตเฉพาะหน้าก่อน และก็คือพนักงานเก่ง ๆ เหล่านี้ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพนักงานที่มีครบทั้งสองด้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าถึงเวลาต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนายจ้างเองต้องดูจากสถานการณ์ของบริษัทขณะนั้นเป็นหลักว่าคนแบบไหนจะเหมาะสมมากกว่า
สำหรับพนักงานเองถ้าในวันนี้คุณยังขาดคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งก็อย่ามัวแต่รอให้คนอื่นมาพัฒนาให้ แต่ขอให้ลงมือพัฒนาตัวเองจนมีพร้อมทั้งความรู้ความสามารถและทัศคติที่ดี เพราะประตูแห่งโอกาสจะเปิดต้อนรับผู้ที่มีความพร้อมก่อนเสมอค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ