หลังจากฝ่าฟันบรรดาผู้สมัครงานทั้งหลายเข้ามาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นคนที่ใช่ ได้มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรอย่างเต็มตัว ก็ใช่ว่าจะครบถ้วนจบกระบวนการสำหรับชีวิตการทำงานเสียทีเดียว เพราะทุกอย่างยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น บรรดาน้องใหม่ในที่ทำงานยังต้องพบเจอกับอีกหนึ่งช่วงเวลาวัดใจ คือ การทดลองงาน หรือ Probation นั่นเอง ซึ่งช่วงเวลานี้องค์กรจะจับตามองน้อง ๆ เป็นพิเศษ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ทำผลงานได้ดี วางตนอย่างเหมาะสม และสามารถรับผิดชอบงานได้อย่างสม่ำเสมอจนหมดช่วงทดลองงาน ย่อมผ่านช่วงทดลองงาน แต่ก็ยังมีน้องใหม่บางรายที่ ไม่ผ่านโปร หรือไม่ผ่านการทดลองงานด้วยเหตุผลหรือปัจจัยบางอย่าง
ทั้งพฤติกรรม อุปนิสัย การเรียนรู้ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่าง ๆ JobsDB มีคำแนะนำมาฝากเกี่ยวกับข้อควรระวัง พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง…ห้ามพลาด ถ้าไม่อยากไม่ผ่านโปร
7 พฤติกรรมที่อาจจะทำให้น้องใหม่ไม่ผ่านโปร
1. ไม่ทุ่มเท ไม่รับผิดชอบต่องานที่ทำ
ในช่วงเวลาของการทดลองงาน แน่นอนว่าคนที่เคยสัมภาษณ์เราไว้ต้องกำลังจับตามองว่าเราจะทำได้ตามที่เคยพูดหรือไม่ หากทำได้ก็ผ่านโปรฉลุย แต่หากมัวแต่ตื่นเต้นกับตำแหน่งใหม่เสียจนไม่ทุ่มเทให้งาน ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีความเป็นมืออาชีพแล้วละก็ อาจตกม้าตายไม่ผ่านโปรได้ในที่สุด
ทางที่ดีให้ลองทบทวนดูว่าบริษัทคาดหวังอะไรจากตำแหน่งงานของเรา สอบถามให้ชัดเจนว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ขอบข่ายหน้าที่และความรับผิดชอบของเรามีแค่ไหน และพยายามเรียนรู้ให้เร็วที่สุด พร้อมกันนั้นก็ลองสังเกตแนวทางการทำงานของหัวหน้าและของทีมงานรอบข้างว่าเป็นอย่างไร เพื่อปรับรูปแบบการทำงานของเราให้สอดคล้องกับคนในองค์กรและมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น
2. ทำงานผิดพลาด ไม่พัฒนาตัวเอง
การ ทำงานผิดพลาด ย่อมไม่เป็นผลดีต่ออนาคตการทำงานอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เป็นน้องใหม่ พี่ ๆ ในที่ทำงานก็มักจะเข้าใจและให้อภัยได้ในความผิดครั้งแรก ๆ แต่หากผิดพลาดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ย่อมไม่ดีแน่ แปลว่าตัวเราอาจไม่มีสมาธิ หรือพัฒนาปรับปรุงตัวเองไม่ได้
ทางที่ดีเมื่อได้รับมอบหมายงานมา แล้วเป็นงานที่เราทำไม่ได้ ให้หาข้อมูลก่อน แล้วขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่เคยทำงานนั้น ๆ หากมีคนสอนงานให้จดบันทึกไว้เสมอ เพราะโดยส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบสอนอะไรที่มากกว่า 1 รอบ หมั่นฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้เรียนรู้งานได้ไว ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ รับรองว่าองค์กรต้องการให้เราอยู่ต่ออย่างแน่นอน
3. ไม่ตรงต่อเวลา ขาดระเบียบวินัย
พฤติกรรมบางอย่างที่น้องใหม่ไม่คิดอะไรมาก อย่างการเข้างานสายเป็นประจำ หรือมาทันเวลาแต่ขอเวลาทานอาหารเช้าเป็นชั่วโมง ไม่พร้อมทำงานสักที พักกลางวันทีก็หายตัว เข้างานช้ากว่าคนอื่น ๆ ย่อมสะท้อนวินัยในตัวตนให้พี่ ๆ ที่ทำงานเห็นได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วช่วงทดลองงาน ไม่ควรขาด ลา มาสายใด ๆ ทั้งสิ้น
หากไม่จำเป็น เพราะคนมาสาย ไม่ตรงต่อเวลา มักจะโดนเหมารวมว่าเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้จะเป็นคนเก่งก็ตาม ดูขาดความเป็นมืออาชีพ เพราะแม้แต่เรื่องเวลายังรักษาไม่ได้ แล้วจะรับผิดชอบงานได้อย่างไร ทำให้ไม่สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้เท่าที่ควร
4. ติดแชท ติดไลน์ ติด Social Media
เด็กยุคใหม่กับ Smart Phone ดูจะเป็นอะไรที่แยกจากกันไม่ออก ตาม lifestyle ของคน Gen Y Gen Z แต่เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มตัว ก็ถึงเวลาที่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ดึงความเป็นมืออาชีพออกมา รู้จักแยกแยะเวลาการใช้งาน Social Media ให้อยู่ในระดับพอดี ไม่เบียดบังเวลาจนทำงานไม่เสร็จ หรือไม่มีสมาธิในการทำงานจนเกิดข้อผิดพลาด งานไม่มีคุณภาพ หยุดพฤติกรรมติดแชท ติดไลน์ทั้งวัน วางโทรศัพท์ไม่ได้
นอกจากนี้ยังต้องใช้ Smart Phone อย่างมีกาลเทศะ ไม่รบกวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกเข้าที่ไม่สุภาพ ลืมปิดเสียงในที่ประชุม หรือคอยหยิบโทรศัพท์มาดูตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ให้เสพติด Social Media ใช้เวลาให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อผลดีทั้งต่อตัวเองและองค์กร
5. วิพากษ์วิจารณ์เชิงลบผ่าน Social Media
คิดทุกครั้งก่อน Comment หรือกด Like กด Share ข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ อย่าเอาความคึกคะนองเป็นที่ตั้ง เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย หลาย ๆ คนอาจต้องเสียงานดี ๆ ไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากความเห็นส่วนตัวที่เผยแพร่อยู่ใน Social Media ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน พูดให้ร้ายองค์กร-หัวหน้างาน นำข้อมูลลับขององค์กรมาเปิดเผย หรือแสดงออกถึงทัศนคติด้านลบ ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการแสดงออกที่ไม่สร้างสรรค์ในทุกกรณี หากไม่อยากให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่โดยไม่ได้ตั้งใจ
6. สื่อสารผิดพลาด ไม่ถูกกาลเทศะ
การสื่อสารโดยเฉพาะการเขียนดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของเด็กจบใหม่หลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการกรอกรายละเอียดสมัครงาน การเขียนอีเมล หรือ การเขียนรายงาน ต่าง ๆ ต้องให้ความใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกใช้คำ ระดับภาษา การสะกดคำต้องไม่ผิดพลาด ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งข้อมูลทุกครั้ง พร้อมไม่ลืมใส่หัวข้อเรื่องที่สั้น กระชับ ได้ใจความ สื่อสารได้ตรงประเด็น ไม่ลืมแนบไฟล์เอกสาร และรายละเอียดในการติดต่อกลับ
จำไว้ว่าทักษะการสื่อสารที่ดีคือหัวใจสำคัญของการติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากภาษาเขียนแล้ว ก็ต้องระวังเกี่ยวกับภาษาพูดด้วยเช่นกัน ระวังการใช้ภาษาไม่เป็นทางการ ภาษาเฉพาะกลุ่ม การใช้คำไม่สุภาพ อีกทั้งยังต้องไม่ลืมมีหางเสียงในการพูดเสมอ
7. วางตัวไม่ดี ไม่มีมนุษยสัมพันธ์
ด้วยความที่เด็กรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อต้องร่วมงานกับรุ่นพี่วัยต่าง ๆ กันในที่ทำงานอาจเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และส่งผลต่อการทำงานร่วมกันได้ คำนึงถึงเรื่องกาลเทศะให้มากขึ้นอีกนิด วางตัวให้เหมาะสม ดูแลบุคลิกภาพและการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือคนอื่น ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกับเรา
น้องใหม่ควรวางตัวอย่างนอบน้อม มีสัมมาคารวะ ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะน้องใหม่ในที่ทำงานยังต้องการการสนับสนุนในการทำงานจากพี่ ๆ ในที่ทำงาน เช่น การสอนงาน การสอบถามข้อมูล หรือการขอความช่วยเหลือในเรื่องงานต่าง ๆ สร้างมิตรไว้ดีกว่าสร้างศัตรูอย่างแน่นอน
เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และหลีกเลี่ยง 7 พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้น้องใหม่ ไม่ผ่านโปร เพื่อให้ช่วงเวลาของการทดลองงานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานในสายอาชีพที่เราเลือก JobsDB ขอให้เก็บเกี่ยวสิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อสั่งสมเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่จะต่อยอดให้เราเติบโตในองค์กรได้ต่อไป
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/หางานช่วงโควิด-จบใหม่/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/รับมืองานแรก-จบใหม่/