Gen Y และ Gen Z คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ รักอิสระ และให้คุณค่ากับสิ่งที่มีผลต่อจิตใจ ส่งผลให้พฤติกรรมการทำงานของคนที่ 2 เจนเนอเรชันนี้เปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มต้องการทำงานที่มีความหมายต่อชีวิต ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมคนทั้ง 2 เจนนี้ถึงได้เปลี่ยนงานบ่อย มากกว่าทำงานบริษัทใดบริษัทหนึ่งนาน ๆ
จากผลสำรวจวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือน ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ที่เผยว่า ระยะเวลาเฉลี่ยในการทำงานของชาว Gen Y จะเปลี่ยนงานเฉลี่ย 2 ปี 5 เดือน ในขณะที่คน Gen X จะทำงานเฉลี่ย 5 ปี ถึงจะเปลี่ยนงาน ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ หรือที่เรียกกันในวงการ HR ว่า Talent ยิ่งมีโอกาสเปลี่ยนงานบ่อย เพราะเลือกงานได้ ทำให้นอกจากที่ผู้สมัครจะต้องเตรียมตัวมาสัมภาษณ์งานแล้ว ตัว HR เองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อสร้างความประทับใจให้กับตัวผู้สมัครหรือ Talent เก่ง ๆ วันนี้เราเลยจะพาไปดู 10 วิธีสร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครงานตั้งแต่วันสัมภาษณ์
หากได้รับ อีเมลสมัครงาน จากผู้สมัครงานแล้ว แนะนำให้รีบตอบกลับอีเมล อย่างปล่อยไว้นานเป็นสัปดาห์ เพื่อที่จะทำให้ผู้สมัครงานทราบว่าทาง HR ได้รับ เรซูเม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้สมัครงานหรือ Candidate รู้สึกถึงความใส่ใจที่ HR มีให้กับพนักงาน แสดงออกถึงวัฒนธรรมการสื่อสารที่ดีและความมีระบบระเบียบขององค์กร สร้างความประทับใจแรกให้กับผู้สมัครงานได้ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาที่บริษัทด้วยซ้ำ และถ้าหากบริษัทมีระบบจัดเก็บและคัดกรองเรซูเม่ สามารถใช้วิธีตั้งค่าการตอบรับอัตโนมัติเพื่อให้ระบบส่งอีเมลตอบกลับทันทีที่ได้รับอีเมลสมัครงานก็ได้เช่นกัน
เมื่อตกลงที่จะให้ผู้สมัครไปต่อในขั้นตอนต่อไปแล้ว ให้โทรแจ้งการสัมภาษณ์งานในขั้นต่อไปแก่ผู้สมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำแบบทดสอบก่อนสัมภาษณ์งาน หรือตารางเวลานัดหมายในวันสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะการนัดเวลาสัมภาษณ์งานที่ควรจะต้องมีการตกลงหาวันเวลาที่ทั้งผู้สมัครและผู้สัมภาษณ์งานสะดวกตรงกัน การนัดแนะผ่านทางโทรศัพท์จะช่วยทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทั้งนี้ แนะนำให้ HR ส่งอีเมลเพื่อเป็นการแจ้งรายละเอียดที่ได้ตกลงร่วมกันแล้วอีกครั้ง ป้องกันความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อน และเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่สื่อออกมาผ่านการทำงานของ HR อีกด้วย
นอกจากฝั่งผู้สมัครที่ต้องเตรียมตัวแล้ว ฝั่งผู้สัมภาษณ์งานก็ต้องเตรียมตัวด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากการอ่านเรซูเม่ของผู้สมัครให้ละเอียด เพื่อจะได้ลิสต์คำถามที่อยากจะถาม โดยคำถามเหล่านี้อาจจะเป็นคำถามเกี่ยวกับประวัติการทำงานหรือการเรียน ประสบการณ์ที่เคยมีมา ความถนัด ทักษะ เฉพาะที่เกี่ยวกับงาน หรือแม้แต่งานอดิเรก เพื่อเป็นการประเมิณเบื้องต้นก่อนสัมภาษณ์จริง และเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง จะได้ไม่ลืมถามคำถามสำคัญ และวิธีนี้ยังช่วยให้ผู้สมัครงานรู้สึกถึงความใส่ใจ การเตรียมตัวที่ดีของผู้สัมภาษณ์เอง และการให้ความสำคัญกับเวลาของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากการลิสคำถามเบื้องต้นซึ่งเป็นเหมือนการวางแผนขั้นแรกสุดแล้ว หากมีผู้สัมภาษณ์หลายคน เช่น มีทั้ง HR หรือ TA นัดสัมภาษณ์รอบแรกก่อนเพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น และมีผู้จัดการหรือผู้บริหารเข้าร่วมสัมภาษณ์ด้วย ก็ควรที่จะมีการคุยกับผู้ที่จะเข้าร่วมสัมภาษณ์ทั้งหมดเพื่อตกลงกันเบื้องต้น โดยทางฝั่ง HR อาจจะเน้นไปที่คำถามคัดกรองทั่วไป ในขณะที่ฝ่ายผู้จัดการจะเน้นไปที่คำถามเจาะลึกในรายละเอียดงาน หรือฝั่งไหนต้องการให้ช่วยสัมภาษณ์เรื่องไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า นอกจากนี้ ควรวางแผนคร่าว ๆ เกี่ยวกับลำดับการสัมภาษณ์ เรื่องที่จะถาม แบบทดสอบที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ เพื่อให้ประหยัดเวลาของทุกคนในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น
สวัสดิการ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะทำให้องค์กรน่าสนใจ เพราะบริษัทไหนมีสวัสดิการดูแลพนักงานที่ดีกว่า ก็มีแนวโน้มว่าผู้สมัครงานจะเลือกบริษัทนั้น ดังนั้นในขั้นตอนการสัมภาษณ์ สามารถแจ้งเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะสวัสดิการนอกเหนือจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับ เช่น จำนวนวันลา บริการที่จอดรถที่ตึกออฟฟิศ Provident Fund อาหารกลางวันฟรี จัดปาร์ตี้ คอร์สเรียนพัฒนาตัวเอง เงินสนับสนุนให้พนักงานเพื่อใช้ซื้อหนังสือหรือเอาไปทำกิจกรรมผ่อนคลาย และอีกเรื่องที่แนะนำให้มีการพูดถึงในขั้นตอนการสัมภาษณ์งานคือ วัฒนธรรมองค์กร โดยเป็นการอธิบายบรรยากาศหรือค่านิยมในการทำงาน
ในยุคนี้เงินเดือนสูงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถคว้า Talent ฝีมือดีไว้ได้ การแชร์เป้าหมายขององค์กรเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ได้ใจเหล่าพนักงานกลุ่ม Talent ซึ่งทำให้ผู้สมัครงานเห็นภาพอย่างชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้ว่าบริษัทนี้มีเป้าหมายเดียวกันกับผู้สมัครหรือไม่ ตอบโจทย์การทำงานและเป้าหมายส่วนตัวของผู้สมัครงานเองหรือเปล่า และควรมีการอธิบายถึงโอกาสการเติบโตในองค์กร หรือจำลอง Career Path ให้กับผู้สมัครงานได้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจชั้นดีที่จะทำให้ผู้สมัครงานอยากมาร่วมงานกับบริษัทนั่นเอง
อาจจะฟังดูเป็นขั้นตอนพื้นฐานใน การสัมภาษณ์งาน แต่ไม่ใช่ผู้สมัครงานทุกคนจะถามคำถามกลับ ในกรณีที่ ผู้สมัครไม่มีคำถามอะไรเพิ่มเติม ผู้สัมภาษณ์อาจจะเตรียมบทสนทนาง่าย ๆ ที่จะช่วยนำไปสู่คำถามที่ผู้สมัครงานอยากถาม เช่น ปกติเดินทางมาทำงานยังไง เพราะที่นี่เรามีบัตร MRT ให้แต่ว่ามีเงื่อนไข ซึ่งคำถามที่ผู้สมัครงานถามกลับมาจะทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าผู้สมัครงานให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ ซึ่งจะเป็นข้อมูลชั้นดีให้องค์กรสามารถเอาไปปรับใช้เพื่อสร้างข้อเสนอที่ตรงใจผู้สมัครงานคนนั้น ๆ มากขึ้นได้
ก่อนที่จบการสัมภาษณ์ ควรแจ้งผู้สมัครงานให้ชัดเจนว่าจะติดต่อกลับไปเพื่อแจ้งผลภายในกี่วัน เพื่อให้ผู้สมัครสามารถรู้ว่าจะได้รับทราบผลเมื่อไหร่และเมื่อแจ้งผลไปแล้วมีเวลาให้ตัดสินใจกี่วัน เพราะบ่อยครั้งที่รายละเอียดเรื่องการประกาศผลไม่ชัดเจน ทำให้ผู้สมัครงานสับสนเพราะคิดว่าไม่ได้งาน และตอบตกลงรับงานในบริษัทอื่น ๆ ไปก่อน
เมื่อบริษัทตกลงที่จะเลือกผู้สมัครคนดังกล่าวเข้าทำงาน ขั้นตอนต่อไปคือการเจรจากับผู้สมัครงานถึงเงื่อนไขข้อตกลงในการว่าจ้าง เช่น เงินเดือน สวัสดิการที่จะได้รับ ฯลฯ ซึ่งนี่จะเป็นหน้าที่สำคัญของ HR ที่จะต้องยื่นข้อเสนอและเจรจากับผู้สมัครงานให้สำเร็จก่อนที่จะออก Offer Letter หรือหนังสือตอบรับข้อเสนอระหว่างพนักงานกับผู้ว่าจ้าง เพื่อให้ทั้งบริษัทและผู้สมัครงานบรรลุข้อตกลงร่วมกันและจูงใจให้ผู้สมัครงานตอบรับเข้าทำงานในบริษัท
หลายครั้งที่ HR เลือกที่จะเงียบหายไปเฉย ๆ เพราะว่าผู้สมัครงานไม่ผ่านการสัมภาษณ์ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 28 ของผู้สมัครงานไม่ได้รับการติดต่อกลับ หรือไม่ผู้สมัครงานก็ต้องติดต่อเข้ามาเองเพื่อสอบถามผลการสัมภาษณ์ จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็น HR เสียโอกาสในการสร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครงาน การเลือกที่จะเงียบหายไปเฉย ๆ นอกจากจะทำให้ผู้สมัครไม่ประทับใจแล้ว อาจมีการบอกต่อกันในกลุ่มคนทำงานสายดังกล่าว อาจทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเสียหายในวงกว้างได้
นอกเหนือจาก 10 ข้อควรปฏิบัติเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครงานแล้ว ผู้สัมภาษณ์ควรยึดถือหลักการปฏิบัติต่อผู้สมัครด้วยความเคารพและเอาใจใส่ เพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันสัมภาษณ์งาน พร้อมกับการวางแผนที่ดีเพื่อเก็บประเด็นที่ต้องสัมภาษณ์ให้ครบและไม่ให้เสียเวลา สื่อสารให้ชัดเจน และติดต่อกลับผู้สมัครงานตาม Timeline ที่ให้ไว้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้สมัครงานได้