ปัจจุบันพนักงานหญิงมีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรมากขึ้น และส่วนหนึ่งของพนักงานหญิงเหล่านั้น นอกจากสถานะคนทำงานยังอาจพ่วงสถานะของการเป็นแม่ ที่ทั้งต้องทำงานไปด้วย และเลี้ยงลูกไปด้วย ทั้งนี้ ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวใน 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น แต่ในประเทศไทย มีแม่เพียงร้อยละ 23 ที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก ปัญหาหลักที่พวกเธอต้องหยุดให้นมแม่คือ ต้องกลับไปทำงาน โดยที่ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารอาจยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน เพราะคิดว่าอาจต้องเสียงบประมาณไปกับการสร้างห้องนมแม่ให้แก่พนักงานหญิงที่ต้องปั๊มนม หรือกังวลว่า เพื่อนร่วมงานบางคนอาจไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของนมแม่ เห็นว่าการนั่งปั๊มนมที่โต๊ะระหว่างทำงาน หรือนำนมที่ปั๊มแล้วไปแช่ในตู้เย็นส่วนรวมของบริษัท ทำให้เสียเวลาทำงาน หรือเป็นการเอาเปรียบและไม่มีความเกรงใจเพื่อนร่วมงาน
รู้หรือไม่!การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ขององค์กรชั้นนำทั่วโลก การที่ผู้ประกอบการสนับสนุนให้พนักงานหญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยการจัดพื้นที่ให้คุณแม่ปั๊มนมในที่ทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ใช้งบประมาณน้อยมาก และไม่ใช่แค่พนักงานผู้เป็นแม่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่ผู้ประกอบการเองยังได้รับประโยชน์ในแง่ธุรกิจด้วยเช่นกัน คือ
1. ลดอัตราการลาหยุดของพนักงานเด็กที่ได้รับนมแม่ จะยิ่งลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาว และลดการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในวัยเด็ก และเมื่อเด็กไม่เจ็บป่วย พนักงานผู้เป็นแม่ก็จะไม่ต้องลาหยุด เพื่อไปดูแลลูก ทำให้พนักงานลาหยุดไปดูแลลูกป่วยน้อยกว่าพนักงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง และพนักงานไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการปั๊มนมหลังเลิกงานหรือตอนกลางคืนเก็บไว้ให้ลูก เนื่องจากมีห้องนมแม่ที่บริษัทจัดไว้ให้แล้ว
2. ลดอัตราการลาออกของพนักงานหญิงสามารถรักษาพนักงานที่มีประสบการณ์และทักษะความสามารถในการทำงานไว้ได้ ทำให้ประหยัดรายจ่ายในการคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานใหม่
3. ช่วยให้การทำงานของพนักงานหญิงมีประสิทธิผลมากขึ้นการที่ผู้ประกอบการสนับสนุนให้พนักงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและพนักงาน พนักงานจะมีขวัญกำลังใจและความจงรักภักดีต่อองค์กร ส่งผลต่อการทำงานที่ดี ทำให้พนักงานต้องการทำงานกับองค์กรต่อไปนาน ๆ
4. ประหยัดงบประมาณในระยะยาวสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของบุตรพนักงาน เนื่องจากเด็กที่กินนมแม่มีสุขภาพดี ไม่ป่วยบ่อย
5. ส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้กับองค์กรนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะทำให้พนักงานผู้เป็นแม่ชื่นชม พูดถึง และแชร์ต่อเกี่ยวกับบริษัทในสิ่งที่ดี ถึงความประทับใจที่องค์กรเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีนโยบาย ให้ความรู้ และจัดพื้นที่สำหรับพนักงานผู้เป็นแม่ สิ่งเหล่านี้จะถูกบอกต่อกันออกไปในกลุ่มพนักงานแม่ ๆ โดยที่องค์กรของคุณไม่ต้องเสียงบประมาณในการโปรโมทองค์กร ทั้งยังดึงดูดพนักงานหญิงที่กำลังหางาน อยากทำงานกับองค์กรมากขึ้นด้วย
หากพนักงานผู้เป็นแม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีและเหมาะสม จากทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือเพื่อนร่วมงาน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เหล่านี้คือองค์ประกอบหลัก ๆ ในการจัดทำมุมนมแม่ในที่ทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วใช้งบประมาณน้อยมาก แต่ได้ผลตอบแทนสูง
1. มีนโยบายที่ชัดเจน ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างความเข้าใจให้กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน
2. จัดพื้นที่ที่สะอาดและเป็นส่วนตัว รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปั๊มและเก็บน้ำนมแม่ เช่น เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางของ และตู้เย็น เป็นต้น
3. ให้เวลากับพนักงานหญิงในการปั๊มและเก็บน้ำนมแม่ได้ วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที
4. ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับพนักงานหญิง
5. ส่งเสริมการใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมายแรงงานอย่างเต็มที่
เนื่องในวันแม่ปีนี้ หากองค์กรของคุณอยากมอบสิ่งดี ๆ ให้กับพนักงานหญิง ที่เป็นคุณแม่ กิจกรรม#ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่จัดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ www.unicef.or.th/breastfeeding/workplace พร้อมระบุอีเมล์ฝ่ายบุคคล/ ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการ รวมทั้งชื่อองค์กรที่คุณทำงานอยู่ และกดปุ่ม “ฉันอยากให้ออฟฟิศนี้มีพื้นที่เพื่อแม่” หนึ่งเสียงของคุณจะสามารถช่วยให้เด็กในประเทศไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการกินนมแม่ได้นานที่สุด