การจะทำให้ใครสักคนหนึ่งเชื่อในสิ่งที่เราพูด นอกจากสิ่งนั้นจะต้องมีเหตุมีผลที่น่าเชื่อถือในทางวิทยาศาสตร์แล้ว เทคนิคในเชิงจิตวิทยาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป ศิลปะในการพูดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน จะพูดอย่างไรเพื่อจูงใจคนให้คล้อยตาม และเปลี่ยนความคิดของผู้ฟังให้มองตัวเองต่างไปจากเดิม วันนี้เรามีเทคนิคการพูดเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามมาแนะนำ
คนเรามีแนวโน้มที่จะ “เป็น” หรือ “ทำ” อย่างในคนอื่นมองเรา ..เมื่อเราคิดว่าคนอื่นมองเราอย่างไร เราก็จะคิดว่าเราเป็นอย่างนั้น และพยายามทำตัวให้เป็นไปตามนั้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์ในสายตาของเราเอาไว้ ไม่ว่าเราจะเชื่อว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม เช่นในการทดลองของศาสตราจารย์ รีด ม็องตากูร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดื่มโค้ก และเป๊บซี่ แล้วบอกว่าน้ำอัดลมยี่ห้อไหนรสชาติดีกว่ากัน เมื่อวัดคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองพบว่าส่วนใหญ่คิดว่าเป๊ปซี่รสชาติ ดีกว่า แต่คำตอบของคนส่วนใหญ่กลับออกมาว่าเป็นโค้กที่มี รสชาติดีกว่า ซึ่งเป็นเพราะยี่ห้อโค้กมีชื่อเสียงมากกว่า และหากเลือกโค้ก จะทำให้คนอื่นมองว่าเราไม่ตกกระแส
อีกหนึ่งตัวอย่าง เป็นเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่มีลูก 2 คน คนโตเรียนเก่ง คนเล็กเรียนไม่เก่ง พ่อแม่ก็ชื่นชมลูกคนโตว่าเป็นเด็กดีของพ่อแม่ ในขณะที่มองลูกคนเล็กว่าไม่เอาถ่าน เมื่อเด็กทั้งสองถูกเปรียบเทียบกันตลอดเวลา ผลก็คือ ลูกคนโตจะพยายามทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ ตั้งใจเรียนหนังสือและทำตัวเป็นเด็กดีของพ่อแม่ ในขณะที่ลูกคนเล็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสนใจ ท้อแท้ หมดกำลังใจ และคิดว่าตนเองไม่เอาถ่านจริง ๆ
เช่นเดียวกันในโลกของการทำงาน ถ้าพนักงานได้รับแต่คำตำหนิ เมื่อทำงานผิดพลาด ไม่เคยได้รับกำลังใจจากผู้คนรอบข้างเลย พวกเขาย่อมรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจในการทำงาน และนั่นจะยิ่งทำให้ผลงานของเขาตกต่ำลงไปอีก ในทางตรงกันข้าม หากพนักงานได้รับกำลังใจจากผู้คนรอบข้างเสมอ เขาก็จะเชื่อว่าเขาทำได้ เชื่อในความสามารถและศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา
เทคนิคหนึ่งที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนความคิดของพนักงานให้ หันมามองแบบเดียวกับคุณ ก็คือการใช้ภาษาที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ถ้าคุณต้องการให้พนักงานตัดสินใจอยู่กับบริษัทต่อไปในช่วงที่บริษัทกำลัง ประสบปัญหาอย่างหนัก
“คุณไม่ใช่คน ที่ยอมถอดใจอะไรง่าย ๆ นี่ ตรงกันข้าม คุณเป็นคนที่ยืนหยัดฝ่าฟันปัญหา ไม่ว่าอุปสรรคที่ขวางอยู่นั้นจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม ผมอยากให้คุณรู้ว่า ผมนับถือความซื่อสัตย์และความภักดีของคุณจริงๆ” เมื่อพนักงานได้ฟังก็จะเริ่มมองตัวเองตามที่คุณพูด ยิ่งพนักงานมีความเคารพนับถือในตัวคุณมากเพียงใด เขาจะยิ่งมุ่งรักษาภาพลักษณ์ตามสายตาของคุณมากขึ้นเท่านั้น
ประโยคง่าย ๆ เพียงประโยคเดียวสามารถช่วยให้พนักงานมองตัวเองในอีกแบบหนึ่งได้ เมื่อคุณมองเขาในแง่ดี ก็จะทำให้เขามองตัวเองในแง่ดีเช่นกัน และเขาก็จะถูก ผลักดันให้ทำตามความคาดหวังของคุณโดยไม่รู้ตัว