ชาวออฟฟิศมีเฮ เมื่อคณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ 1 แสนบาท เงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี (แต่ต้องยื่นภาษี) โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
1.1 สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
1.2 สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
2. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้น ดังนี้
2.1 ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
2.2 ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
2.3 ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็น (1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็นคนละ 30,000 บาท และ (2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
อย่างไรก็ดี หากมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม (1) และบุตรบุญธรรม (2) ให้นำบุตรตาม (1) ทั้งหมดมาหักก่อน หากบุตรตาม (1) ที่มีชีวิตอยู่รวมจำนวนเกิน 3 คน จะนำบุตรตาม (2) มาหักไม่ได้แล้ว แต่ถ้าบุตรตาม (1) มีไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรตาม (2) มาหักได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกิน 3 คน
2.4 ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
2.5 กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้จาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
2.6 ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
3. ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้
บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับปรุงใหม่ | |
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
0-150,000 | ได้รับการยกเว้น |
150,001-300,000 | ร้อยละ 5 |
300,001-500,000 | ร้อยละ 10 |
500,001-750,000 | ร้อยละ 15 |
750,001-1,000,000 | ร้อยละ 20 |
1,000,001-2,000,000 | ร้อยละ 25 |
2,000,001-5,000,000 | ร้อยละ 30 |
5,000,001 ขึ้นไป | ร้อยละ 35 |
4. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีดังนี้
4.1 กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 220,000 บาท
4.2 กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
4.3 กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
(4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
5. การปรับปรุงดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายกสนใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้มีเงินได้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีในแต่ละเดือนลดลง ส่งผลให้มีเงินได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ที่มา : เว็บไซต์กรมสรรพากร
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ