ก่อนตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนต้องมีการวางแผนและจัดการกับภาระทางการเงิน ด้านอื่น ๆ ที่มีอยู่ในชีวิตให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ควรเป็น "เงินส่วนที่เหลือ" หลังจากที่คุณได้เตรียมการขั้นพื้นฐานสำหรับชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายจ่ายสำคัญที่คุณควรจัดเตรียมไว้ก่อนเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ ได้แก่
1. เงินสดสำรองเผื่อฉุกเฉิน
คือ เป็นเงินรายจ่ายส่วนแรกที่คุณควรจะแยกออกจากเงินรายได้ เพื่อใช้ลดความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคุณควรจะมีเงินส่วนนี้ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายในปัจจุบันของคุณเอง และควรเก็บไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น
2. ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค
คือ เป็นเงินรายจ่ายในการดำเนินชีวิตของคุณและครอบครัว โดยจะประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ค่าพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในหมวดนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่หมดไป โดยไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่น
3. ภาระหนี้สิน
ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงิน หน้าที่ตามกฎหมายของคุณก็คือ การจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาหรือข้อตกลง เพราะหากคุณไม่ชำระตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินในครอบครอง หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายได้ ซึ่งหนี้สินมีทั้งหนี้สินระยะสั้น เช่น หนี้ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคผ่านบัตรเครดิต ระบบผ่อนชำระต่างๆ ฯลฯ และหนี้สินระยะยาว เช่น หนี้จากการซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ หนี้จากการผ่อนรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งหนี้สินระยะยาวส่วนใหญ่จะแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ของคุณในอนาคต
4. ค่าเบี้ยประกัน
คุณคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ชีวิตมีความไม่แน่นอน ทรัพย์สิน และสิ่งที่ครอบครองหรือมีไว้ใช้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนที่คุณจะนำเงินมาลงทุนในหลักทรัพย์ คุณควรทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ หรืออื่นๆ ทั้งแก่ตัวคุณเองและสมาชิกในครอบครัวให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคุณและคนที่คุณรัก นอกจากนี้ การประกันภัยยังช่วยในการออมเงินระยะยาวได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันชีวิตหลายๆ ประเภทที่มีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างการประกันภัยกับการออมเงินในระยะยาว
5. เงินสำหรับแผนการในอนาคต
เงินออมนี้คือเงินที่คุณควรมีไว้ใช้ในอนาคตของคุณเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความคิด ความหวัง สถานการณ์ และความจำเป็นของคุณ แผนการในอนาคตอาจหมายถึง การศึกษาของคุณเอง การศึกษาของบุตร การมีบ้านหลังใหม่ในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า การต่อเติมบ้าน การมีเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างเพิ่มขึ้น ฯลฯ หากคุณมีแผนการที่ชัดเจนเหล่านี้อยู่ในใจก็ควรจะวางแผนเก็บเงินเพื่อแผนการนั้นๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน ไม่ควรคิดว่าจะใช้เงินที่ได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์มาใช้เพื่อแผนการในอนาคตเหล่านั้น
สุดท้ายนี้ เมื่อคุณเตรียมพร้อมในเรื่องพื้นฐานของชีวิตคุณเรียบร้อยแล้ว คุณก็จะสามารถก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้อย่างสบายใจ มั่นใจ และสุขุมรอบคอบขึ้น เพราะไม่ต้องมานั่งเครียดหรือกังวลกับเรื่องอื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต
ที่มา : www.set.or.th