ในขณะที่คุณตั้งหน้าตั้งตาทำงานที่คุณรักอยู่ แล้ววันนึงคุณก็ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทหนึ่ง มาเสนอให้คุณไปทำงานด้วย ที่ทำงานเดิมก็ยังดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ข้อเสนอของบริษัทใหม่ก็เย้ายวนใจไม่ใช่เล่น คำถามเกิดขึ้นในหัวว่า“จะอยู่ทำงานที่เดิมหรือไปที่ใหม่ดี”คำถามนี้ตอบยากมาก จะเลือกอะไรดีระหว่าง “ข้อเสนอดี ๆ จากที่ทำงานใหม่” และ “ความั่นคงในการทำงานจากที่ทำงานเดิม”
การเปลี่ยนแปลงมักต้องเจอกับความไม่แน่นอนและความไม่คุ้นเคย หลายคนอาจยังไม่พร้อมที่จะออกจาก comfort zone ไปเจอกับสิ่งเหล่านั้น แต่บางคนก็คิดว่ามันก็แค่ความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้ได้เติบโตและก้าวหน้าขึ้น ดังนั้น การประเมินโอกาสในการทำงานด้วยมุมมองและข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น jobsDB ได้รวบรวม 5 มุมมองง่าย ๆ แต่จำเป็นมาก ที่คุณควรนำไปปฏิบัติตาม เพราะจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าคุณควรเลือกอยู่ที่เดิม หรือไปที่ใหม่
1. หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทให้ลึกขึ้นกว่าเดิม
คุณอาจคิดว่าทำไมเราถึงพูดเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ก็เพราะการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเป็นเรื่องที่สำคัญ คนส่วนใหญ่มักมองข้ามไปว่า การค้นหาข้อมูลบริษัทที่เสนองานมาให้นั้น มีความสำคัญในการตัดสินใจได้มากขึ้นเลยทีเดียว
การหาข้อมูลให้ลึกขึ้นกว่าเดิมคือ ทำยังไงก็ได้ อาจจะเป็นเส้นสายที่คุณรู้จัก เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่คุณอาจจะได้ไปร่วมงานด้วยนี้ ที่ลึกมากขึ้นและให้ได้ข้อมูลมากเท่าที่จะมากได้ หรือคุณอาจลองหาว่าพนักงานเก่าและพนักงานใหม่รีวิวถึงบริษัทนี้ว่าอะไรกันบ้าง อาจจะลองเข้าไปอ่านที่ช่องทางออนไลน์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อหาอ่านรีวิวทั้งแง่บวกและแง่ลบของพนักงานที่มีต่อวัฒนธรรมองค์กร วิธีการจัดการ และการพัฒนาวิชาชีพและบุคคลของบริษัทนั้น
2.ขอให้มีขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน
คุณจะได้มีโอกาสถามถึงข้อสงสัยต่าง ๆ และสิ่งที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อเสนอที่ทางบริษัทเสนอให้ รวมถึงผลประโยชน์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับกับการรับข้อเสนอนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณเหมาะกับการทำงานนี้จริง ๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดอันอาจเกิดจากการมีความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างคุณกับบริษัท
และควรขอโอกาสให้ได้พบกับ "ว่าที่เพื่อนร่วมงาน" และขอเดินดูสถานที่ที่คุณต้องทำงานถ้าเป็นไปได้ เพื่อให้คุณได้เห็น สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สภาพการทำงานของว่าที่เพื่อนร่วมงาน และได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมขององค์กร ถ้าผู้ว่าจ้างไม่สะดวกกับคำขอนี้ของคุณ คุณอาจอธิบายเขาว่า ความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ อาจจะยุ่งยากน้อยกว่า ที่มารู้ทีหลังว่าบริษัทนี้ไม่เหมาะกับคุณ ซึ่งถ้าถึงตอนนั้นจะสร้างความเสียหายได้ เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
3.ใช้ข้อเสนอเป็นตัวต่อรอง
คุณไม่จำเป็นต้องตอบรับข้อเสนอโดยทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ต่อรองก่อน คุณมีสิทธิที่จะต่อรองเพื่อให้คุณได้ประโยชน์มากกว่าข้อเสนอที่ได้รับ หากคุณรู้สึกว่าคุณสมควรได้ข้อเสนอที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นได้เวลาที่ยืดหยุ่นในการทำงาน ได้รับการจ่ายเงินเดือนหากคุณลาคลอด ได้หลักประกันในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือข้อเสนออื่น ๆ คุณจะไม่รับในสิ่งที่คุณไม่ได้ขอ ฉะนั้นลุยเลยค่ะ
4.มองภาพรวมและคิดให้รอบด้าน
เมื่อคุณต้องเลือกระหว่างงานใหม่กับงานที่กำลังทำอยู่ อยากให้คุณมองภาพรวมของทุกอย่างให้ครอบคลุม อย่าลาออกจากงานเพียงเพราะเงินที่เสนอมามันมากกว่าที่เก่าแต่เพียงอย่างเดียว ต้องคิดให้รอบด้านด้วย เช่น ขอบเขตของงาน วัฒนธรรมองค์กร การให้คุณค่าของบริษัท ประวัติการบริหารจัดการ ผลประกอบการทางธุรกิจ เป็นต้น ให้นึกถึงแรงบันดาลใจในการทำงานในระยะยาว แล้วถามตัวเองว่าบริษัทหรืองานไหนที่ใช่สำหรับคุณมากที่สุด
5.ประเมินความรู้สึกของตัวเอง
ถ้าคุณยังคิดไม่ตกอยู่ ลองอ่านบทความนี้ดู 6 คำถามที่ต้องตอบก่อนเปลี่ยนงาน เพื่อช่วยตัดสินใจในการตอบรับกับบริษัทที่มาเสนอให้ไปทำงานด้วย คุณจะประเมินความรู้สึกของตัวเองที่มีกับที่ทำงานเดิม เปรียบเทียบกับข้อเสนอจากที่ทำงานที่ใหม่ได้ชัดเจนขึ้น แล้วคุณก็จะได้คำตอบว่า “จะอยู่ทำงานที่เดิมหรือไปที่ใหม่ดี”
การตัดสินใจที่จะอยู่ทำงานที่เดิมหรือไปที่ใหม่เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างยาก ถ้าตัดสินใจผิด จากที่คุณจะก้าวหน้าในอาชีพ ก็อาจจะกลายเป็นก้าวถอยหลังหรือห่างไกลจากเป้าหมายในอาชีพที่คุณวางไว้ก็เป็นได้ แต่ถึงแม้ว่าคุณใช้สมองและความรู้สึกของคุณในการคิดตัดสินใจเชิงตรรกะได้แล้ว แต่สัญชาตญาณของคุณกลับบอกให้รับข้อเสนอนั้น บางทีการทำตามสัญชาตญาณอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้ ดังคำกล่าวของRalph Waldo Emerson: “Trust instinct to the end, even though you can give no reason.”(ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน กวีชาวอเมริกันที่ว่า "เชื่อในสัญชาตญาณของคุณจนถึงที่สุด แม้ว่าคุณจะไม่สามารถให้เหตุผลกับมันได้ก็ตาม")
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ