นาทีที่มีใครมาเรียก สัมภาษณ์งาน พวกเราชาวบัณฑิตมือใหม่หัดหางานย่อมจะดีใจ แต่แล้วต่อมาก็กลับเกิดอาการ “กังวล” เหมือนต้องกลับเข้า “ห้องสอบวิชาสุดหิน” อีกทั้งความตื่นเต้นก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อวันสัมภาษณ์งานจริงมาถึง ยามที่มือไม้เย็นเฉียบ ท้องไส้ปั่นป่วน แถมหัวใจก็เต้นรัว ทำใจร่ม ๆ ไว้ค่ะ... jobsDB มี “ตำราดี” ที่จะช่วยคุณเตรียมพร้อมสัมภาษณ์งาน
วันไหนของสัปดาห์ดี
น่าสนใจเมื่อมีบางงานวิจัยพบว่า “ช่วงเช้าวันอังคาร” เป็นช่วงเวลาดีที่สุดสำหรับการนัดสัมภาษณ์งาน ทำไมน่ะเหรอคะ...ก็เพราะเป็นวันที่ผู้สัมภาษณ์งานน่าจะมี “มู้ด” ดีที่สุด เพราะผ่าน “black Monday” มาแล้ว และจิตใจของเขาก็เริ่มปรับให้พร้อมลุยงานได้แล้ว ในขณะที่ก็ยังมีเวลาเหลืออีกสามวันให้เคลียร์ภาระความรับผิดชอบที่รออยู่ เพราะงั้นถ้าเลือกได้...“เช้าวันอังคาร” เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ
คิดก่อนโพสต์
ในยุคสมัยใหม่นี้ อย่าลืมว่า “โซเชียลมีเดีย” เป็นช่องทางหนึ่งที่นายจ้างสามารถเข้ามาสอดส่องตัวเรา อุปนิสัย และทัศนคติของเราได้ ดังนั้น ก่อนจะโพสต์อะไร คิดให้ดี ๆ ก่อนค่ะ เพื่อไม่ให้ข้อความที่เราโพสต์ในอดีตด้วยความคึกคะนองหรือด้วยอารมณ์กลับมาทำร้ายเราโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็นายจ้างส่วนใหญ่คงไม่ชอบลูกน้องประเภทก้าวร้าว ขี้บ่น หรือหยาบคายสักเท่าไหร่
รู้จักบริษัท
ก่อนสัมภาษณ์งาน เราควรหาข้อมูลบริษัทให้มากที่สุด เช่น ลักษณะธุรกิจ วิสัยทัศน์ และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งค้นหาได้ง่ายจากเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้เราสามารถตอบคำถามได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของบริษัท และยิ่งถ้าคุณรู้เรื่องราวอัปเดตของบริษัทอย่างงานอีเวนท์ที่เพิ่งผ่านมา รับรองว่าผู้สัมภาษณ์งานจะปลื้มคุณน่าดูที่สนใจองค์กรเขานะคะ
เก็งคำถาม
“การเก็ง คำถามสัมภาษณ์งาน ” จะช่วยลดความตื่นเต้น และช่วยให้เราตอบคำถามผู้สัมภาษณ์งานได้ดีขึ้น ในกรณีสัมภาษณ์งานกับบริษัทต่างชาติ ก็อย่าลืมเตรียมคำตอบเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ คำถามสัมภาษณ์งาน ที่พบบ่อยสำหรับมือใหม่หัด สัมภาษณ์งาน ได้แก่ การแนะนำตัวเอง ทำไมจึงสนใจร่วมงานกับบริษัท จุดแข็งและจุดอ่อนของเรา (ซึ่งควรเป็นจุดอ่อนที่พลิกเป็นเรื่องดีได้นะคะ) รวมถึงการเปิดให้เราถาม คำถามหลังการสัมภาษณ์งาน ในตอนท้าย เอาล่ะ...งานนี้เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
เริ่มต้นให้ประทับใจ
เมื่อถึงวันสัมภาษณ์งาน...เราควร แต่งตัวไปสัมภาษณ์งาน ที่ดูสุภาพ ดูดีเหมาะสมกับตำแหน่งงาน และเผื่อเวลาในการเดินทาง (ก็จราจรบ้านเราไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้) หากไปถึงเร็วกว่ากำหนดก็อาจหาที่เดินเล่นแถวนั้นก่อน แล้วค่อยเข้าไปติดต่อฝ่ายบุคคลของบริษัทซักประมาณ 10-15 นาที ก่อนเวลานัด เพื่อ เขียนใบสมัครงาน และยื่น เอกสารสมัครงาน ซึ่งจัดใส่มาในแฟ้มที่ดูสุภาพ จากนั้นเราก็จะมีเวลาช่วงสั้น ๆ ให้สยบอาการประหม่าที่อาจเกิดขึ้น สูดลมหายใจลึก ๆ เอาไว้ค่ะ...
ฉลาดตอบ ตรงประเด็น
เมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญ...ขอให้เริ่มต้นทักทายผู้สัมภาษณ์งานด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม อากัปกิริยามั่นใจ กระตือรือร้น และให้เกียรติ ตั้งใจฟังคำถามของผู้สัมภาษณ์งานให้ดี ตีความหมายให้ครบถ้วน วิเคราะห์จุดประสงค์ในการถาม และตอบคำถามอย่างชาญฉลาด ฉะฉาน ตรงประเด็น และเป็นธรรมชาติ (อย่าให้เขาจับได้เชียวว่าท่องมาเมื่อคืนนะคะ) และหากไม่เข้าใจคำถามก็อาจขอให้ผู้สัมภาษณ์งานอธิบายเพิ่มเติมได้
โดยส่วนใหญ่บริษัทมักแจ้งผลการสัมภาษณ์งานภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่หากเกินสัปดาห์แล้วบริษัทยังคงเงียบอยู่ เราสามารถติดต่อฝ่ายบุคคลเพื่อสอบถามผลได้ หากผลคือเราต้องรับประทาน “แห้ว” ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังนะคะ โอกาสมากมายยังรอเราอยู่ข้างหน้า ครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์เพื่อใช้พัฒนาตนเองต่อไป และก็เป็นไปได้อีกกรณีว่าบริษัทอาจกำลังอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างหรือสาระวนกับบางภารกิจที่ทำให้กระบวนการช้ากว่าปกติ ไม่ว่ากรณีไหน...การถามให้รู้จะช่วยให้เราไม่ติดค้างคาใจ และวางแผนต่อไปได้
ขอเป็นกำลังใจให้ “มือใหม่” สัมภาษณ์งาน อย่างมั่นใจ และได้เจอกับ “งานที่ใช่” ในเร็ววันค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ