สำหรับ เด็กจบใหม่ ป้ายแดงทุกคน การเรียนจบถือเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ เพื่อที่จะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายใหญ่อีกขั้นในชีวิต นั่นก็คือการทำงาน แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการสมัครงานของเด็กจบใหม่มักจะเกิดจากการขาดความมั่นใจในการสัมภาษณ์งาน jobsDB มี tip & trick เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจระหว่างการ สัมภาษณ์งาน มาฝาก
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกจากบริษัทที่คุณสมัครงานเพื่อรอสัมภาษณ์งาน นั่นเป็นสัญญาณดีที่จะให้คุณพิสูจน์ความมั่นใจว่าคุณสามารถทำงานนั้นได้แน่นอน และเป็นด่านสำคัญที่จะตัดสินชะตาชีวิตในการทำงานของคุณ แต่อย่าลืมว่า ยังมีผู้สมัครงานอีกหลายคนที่จะมารอคัดเลือกพร้อมกับคุณ ซึ่งเขาเหล่านั้น ย่อมต้องมีโปรไฟล์ที่ดีเป็นที่ต้องการของบริษัทด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ ความพร้อมและการเตรียมตัวที่ดีที่สุดในการสัมภาษณ์งาน
ผู้สัมภาษณ์งานต้องการอะไรจากคุณ... นอกจากข้อมูลประวัติ และคุณสมบัติต่าง ๆ ในใบสมัครงานที่บริษัทพอใจแล้ว การสัมภาษณ์งานถือเป็นวิธีการคัดเลือกพนักงานที่สำคัญ ที่คณะกรรมการสัมภาษณ์งานจะได้รู้จักตัวตนของคุณผ่านการพูดคุยในช่วงสั้น ๆ เพื่อการทดสอบไหวพริบ ความรู้ต่องาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนวคิดและทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ และพฤติกรรมส่วนตัวของคุณ เช่น ลักษณะการพูด มนุษยสัมพันธ์ พื้นฐานนิสัยใจคอ ดังนั้นคุณจึงต้องวางแผนและหาวิธีดึงศักยภาพทั้งหมดที่มีในตัว เพื่อแสดงให้คณะกรรมการได้ประทับใจที่สุดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาที
1. งัดคุณสมบัติเด่นที่มี มัดใจกรรมการ
ขั้นแรกของการจูงใจกรรมการให้สนใจและพิจารณารับคุณเข้าทำงาน ก็คือ การนำเสนอคุณสมบัติเด่นและทักษะที่เลิศของคุณ ว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในตำแหน่งงานนี้ โดยดึงศักยภาพทั้งหมดที่มีในตัวมาแสดงให้คณะกรรมการได้ประทับใจที่สุดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาที ด้วยประโยคที่กระชับและตรงประเด็นมากที่สุด ซึ่งต้องเรียบเรียงถ้อยคำและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี เช่น สรุปประวัติตัวเองแบบย่อ เพราะกรรมการอาจจะยังไม่ได้อ่านเรซูเม่ที่คุณส่งไป ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะได้แนะนำตัวเองให้กรรมการได้รู้จักในมุมที่คุณต้องการนำเสนอ นำเสนอไม้ตายที่โดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่น ด้วยทักษะพิเศษเฉพาะตัวคุณที่คิดว่าเจ๋งที่สุด ที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับตำแหน่งที่คุณสมัคร ตอกย้ำความมั่นใจให้กรรมการด้วยประสบการณ์ที่คุณมีเกี่ยวกับงานตำแหน่งนี้ที่โดดเด่นเหนือใคร และไม่มีใครเหมาะสมมากเท่ากับคุณ
2. พลิกจุดด้อย ให้กลายเป็นจุดเด่น
นอกจากการแนะนำตัวด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าใครแล้ว การบอกถึง ข้อเด่น-ข้อด้อย ของคุณ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมการได้รู้จักตัวตนของคุณมากยิ่งขึ้น แต่ควรจะมีการนำเสนอที่ชาญฉลาด เพื่อปิดช่องว่างของข้อเสีย และพลิกวิกฤตให้กลายเป็นจุดเด่นได้อย่างแนบเนียน อย่างเช่น ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ในการอธิบายควรจะบอกว่า คนส่วนใหญ่มักมีปัญหาการสื่อสารกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการฟังและพูด เพราะขาดประสบการณ์ในการสื่อสารจริง คุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันพยายามลบจุดด้อยของตัวเองด้วยการเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติมกับเพื่อนต่างชาติ ทำให้มั่นใจว่ามีความพร้อมในการใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเทรนเพิ่มเติม หรือเป็นคนไม่กล้าแสดงออก แต่ตนเองได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านนี้จากมหาวิทยาลัยในการนำเสนองานอยู่เสมอ ๆ แต่หากได้รับโอกาสจากบริษัทก็จะทำให้มั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
การเลือกเอาจุดด้อยของตนเอง มาปรับให้เป็นเรื่องดี พลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส ก็จะช่วยให้กรรมการสนใจในตัวคุณมากยิ่งขึ้น แต่ถึงแม้ว่าคุณต้องการสร้างความโดดเด่นจากการสัมภาษณ์งานมากเพียงใด ก็ไม่ควรพูดจาโอ้อวด โกหก หรือมั่นใจจนเกินความเป็นจริง เช่น สามารถทำได้ทุกสิ่ง เพราะแทนที่จะดีกลับ กลับทำให้ผู้ฟังไม่มั่นใจและไม่เชื่อถือไปทันที ดังนั้น จึงควรพยายามกล่าวย้ำถึงจุดแข็งในตัวคุณ หลีกเลี่ยงจุดด้อย และรู้จักนำเสนอข้อด้อยให้กลายเป็นจุดเด่น เพื่อแสดงให้กรรมการได้เห็นความตั้งใจจริงในการฝึกฝน และมีความพร้อมมากกว่าคนอื่นในการทำงานตำแหน่งนี้
3. ตอบทุกคำถาม อย่างมืออาชีพ
สิ่งสำคัญอีกประการในการสัมภาษณ์งานคือ การตอบคำถามได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งกรรมการอาจจะยิงคำถามหลากหลาย ทั้งคำถามทั่วไปและคำถามเชิงจิตวิทยา การตอบคำถามหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ควรเต็มไปด้วยมุมมองความคิดเชิงบวก หรือมีทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องราวนั้น ๆ เช่น ทำไมถึง ออกจากที่ทำงานเก่า เพราะงานหนัก บริษัทไม่ดี เงินเดือนน้อย หัวหน้าไม่เก่ง เหตุผลที่แท้จริงมีมากมาย แต่คุณควรจะปรับวิธีการตอบเพื่อนำเสนอความคิดเชิงบวกให้มากกว่าเชิงลบ ไม่ใช่การต่อว่าหรือบ่นด่าไปตามอารมณ์และความรู้สึก เช่น ต้องการเรียนรู้งานใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาความสามารถตัวเองเพิ่มขึ้น งานที่ทำอยู่เป็นงานที่ดีแต่ต้องการต่อยอดงานในสายงานเดียวกันเพื่อให้มีประสบการณ์ที่กว้างขึ้น ต้องการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความมั่นคงในอนาคต เป็นต้น
5. ซักถาม แบบมีความรู้
เมื่อทางผู้สัมภาษณ์งานเปิดโอกาสให้ ซักถามกลับ นั่นเป็นโอกาสสำคัญที่คุณจะได้แสดงไหวพริบและความฉลาดในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือก ว่าควรทำงานบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นที่จะถามควรเป็นประเด็นที่มีประโยชน์ในการทำงาน หรือบ่งบอกเป็นนัยถึงความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะทำงานในบริษัทนั้น ๆ เช่น การเติบโตของบริษัทและหน้าที่การงานของคุณในอนาคตเป็นอย่างไร รูปแบบการประเมินผลการทำงานเป็นอย่างไร มีการสนับสนุนในการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ให้กับพนักงานหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงและเป็นข้อมูลเชิงลึกในงานที่อาจจะต้องทำในอนาคต
นอกจากนี้ เมื่อถึงวันที่คุณต้องไปสัมภาษณ์งานแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลา รวมถึงบุคลิกภาพ และการแสดงออก คุณควรเตรียมความพร้อมทั้งการแต่งกาย แต่งหน้า ทรงผม ควรสวยงามพอดี ไม่มากจนเกินไป เช่น แต่งหน้า ทำผมให้พอเหมาะ ฉีดน้ำหอมไม่มากเกินไป เครื่องประดับและเสื้อผ้าดูเรียบร้อย ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย เช่น เล็บ ผม กลิ่นตัว กลิ่นปาก และอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ เช่น รองเท้า กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา แฟ้มงาน ต้องสะอาด และที่สำคัญ การแสดงออกด้วยท่าทางที่สุภาพ พูดจาเป็นธรรมชาติไม่ช้าหรือเร็วเกินไป น้ำเสียงปกติ แต่มีความมั่นใจ มีการสบตากับผู้สัมภาษณ์งาน เพื่อแสดงความจริงใจ ไม่หลบตาเวลาพูดคุย และยิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อสร้างความประทับใจและเป็นกันเองให้กับคณะกรรมการ
ความมั่นใจในระหว่างสัมภาษณ์งานเกิดขึ้นได้จากการเตรียมตัวพร้อม และสร้างความมั่นใจให้กับตนเองอย่างดี แม้ว่าจะสัมภาษณ์งานผ่านหรือสัมภาษณ์งานใหม่กี่ครั้ง ขอให้มุ่งมั่น เตรียมความพร้อม jobsDB เชื่อว่าถ้าเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจ ในระหว่างสัมภาษณ์งานได้อย่างแน่นอน
#icanbebetter
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ แล้วเกิดแปลไม่ออก จะทำอย่างไรไม่ให้งานเข้า