ระเบิดพลังสมอง สร้างองค์กร คิดสร้างสรรค์

ระเบิดพลังสมอง สร้างองค์กร คิดสร้างสรรค์
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

อยากจะเป็นองค์กรสร้างสรรค์ สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม คิดค้นบริการที่มีมูลค่า มีพนักงานที่ครีเอทสุด ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก สร้าง "ระบบ" ทั้งองค์กร เพื่อให้เป็น "องค์กรสร้างสรรค์" หรือที่เรียกว่า Creative Organization Development : COD ก่อน แล้วไอเดียเจ๋ง ๆ จะเกิด และทำได้จริง !

ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท 37.5 องศาเซลเซียสและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แนะนำว่ามี 3 กระบวนท่า "Creative Thinking เป็นเหมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สร้างสรรค์ให้กับพนักงาน พวกเขาจะมีโอกาสฝึกฝนการคิดนอกกรอบ สามารถดัดความคิดหลุดโลก ให้นำมาใช้งานได้จริง ส่วน Creative Leadership เป็นวิธีช่วยให้หัวหน้างานมีทักษะในการกระตุ้นลูกน้องให้คิดสร้างสรรค์ เรียกว่าเป็นคนรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้ความคิดสร้างสรรค์ของ ลูกน้องเติบโตงอกงาม ไม่ใช่เป็น “ผู้ตัดตอน” ขณะที่ Creative Process เป็นการวางระบบขององค์กรเพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การลงมือทำจริง" ศรัณย์กล่าว

ในองค์กรสร้างสรรค์ บทบาทของหัวหน้าและลูกน้อง จึงสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพการคิดซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พนักงานเป็น เสมือนกบ มีหัวหน้าเป็นเหมือนกะลาครอบอยู่ ขณะที่องค์กรเองก็สร้างระบบ และบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ ส่วนการจะงัดแงะให้เกิดไอเดียที่สร้างสรรค์นั้น ศรัณย์บอกว่า หลักใหญ่ ๆ คือ การปรับมุมมองของคน (Mind Set) การสร้างความรู้สึก (Mood) การสร้างกระบวนการ (Mechanics) และวิธีสร้างให้องค์กรอยู่อย่างยั่งยืน (Momentum) เช่น ถ้าให้แต่ละคนคิด ไอเดียใหม่ ๆ แค่เริ่มต้น ก็คงมีเสียงบ่นว่า ไม่ใช่คนครีเอท ก็ต้องปรับมุมมอง ชี้ให้เห็นว่าเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ "ไม่เกี่ยว" กับไอคิวส่วนการ สร้างความรู้สึก (Mood) เพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์ที่หลับให้ตื่น ศรัณย์แนะนำให้ทำแบบเด็กช่างสงสัย ไล่ถามไปเรื่อย ๆ เมื่อความคิดเริ่มทะลุผลิดอกแตกยอดออกมา ศรัณย์อธิบายว่า ช่วงนี้อาจจะได้ความคิดที่ทั้งบรรเจิดและหลุดโลก ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ซึ่งเรียกว่า การคิดค้น (Divergent Thinking) ก็ต้องนำมาผ่านระบบกรอง ด้วยการคิดควบหรือ Convergent Thinking อีกที ขั้นตอนนี้เรียกว่า Mechanics “Divergent Thinking คือ การคิดอย่างอิสระ เน้นปริมาณมาก ๆ ไม่สนใจว่าผิดหรือถูก มุ่งหาความคิดหลุดโลก และเราจะพบว่าไอเดียหลัง ๆ จะแปลกกว่าไอเดียแรก ๆ” ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์รายนี้ให้เคล็ดว่า ถ้าอยากได้ความคิดใหม่ๆ ต้องคิดออกมาให้มากๆ ปล่อยความคิดแรกๆ ให้ออกมาก่อน เพื่อให้ได้ "ความคิดใหม่" ในตอนหลัง

ส่วนใครที่ยังคง "ตัน" อาจจะเริ่ม "ทะลวง" กรอบด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ทำแบบนี้ได้ไหม ปฏิเสธสิ่งที่รู้อยู่ก่อน คิดให้หลุดโลกไปเลย แล้วค่อยหาวิธีดึงกลับมาให้อยู่ในกรอบขององค์กร "ในขั้นของ Convergent Thinking จะเป็นการคิดให้รอบคอบ มีเหตุผล คิดให้ตรงกับวัตถุประสงค์ คิดแบบปรับปรุง แต่ยังคงความแปลกใหม่ เพื่อเลือกไอเดียที่ดีที่สุด" ศรัณย์เพิ่มเติม

เมื่อได้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ก็ต้องสร้าง Momentum หรือความต่อเนื่องในการคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหัวหน้า ผู้บริหาร ที่ต้องมีลักษณะของ Creative Leadership สไตล์ผู้บริหารแบบ Creative Leadership อาจมีแปลกแหวกแนวบ้าง เช่น รับคนทำงานที่คิดไม่เหมือนเรา เพื่อให้ได้มุมที่ต่าง หรือใช้การสัมภาษณ์พนักงานเพื่อหาความคิดใหม่ ๆ "แค่ถามว่า คุณจะทำอะไรใหม่ ๆ ให้เรา"

Creative leadership ยังต้องมีลักษณะ อยากรู้อยากเห็น ยื้อ อึด เพราะบางครั้งอาจจะยังไม่ได้ไอเดียที่ต้องการ และยังต้องถ่อมตัว ให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์แก่ลูกน้อง "สิ่งที่ทำให้เกิดโมเมนตัม คือ การให้คำติชมที่สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นกรณีที่ลูกน้องเสนอไอเดียมา ต้องชื่นชม คุณคิดได้ไง ไอเดียดีแล้ว เราจะนำไปทำหรือให้ไปคิดต่อ" ศรัณย์แนะนำ

ในส่วนขององค์กร ซึ่งจะต้องสร้างระบบเพื่อรองรับไอเดียใหม่ ๆ หรือสร้าง Creative System นั้น แน่นอนว่า จะต้องมีทั้งบรรยากาศ และระบบการบริหาร ศรัณย์บอกว่า องค์กรที่สร้างสรรค์ ควรมี job description ให้พนักงาน ต้องมีไอเดียใหม่ ๆ มาเสนอ แม้จะทำให้เกิด "ตลาดมืด" ซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเดียในหมู่พนักงาน แต่ถ้าพนักงานคุยกันเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คุยกันไป คุยกันมา ก็จะได้ความคิดใหม่ ๆ ถือเป็นบรรยากาศที่ดี

การสร้างระบบนี้ เขาแนะนำว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย อาจจะส่งตัวแทนเพื่อเป็นคณะกรรมการสร้างสรรค์ และเป็นคณะทำงานที่จะผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ข้ามฝ่ายข้ามแผนกขึ้น หรืออาจจะเริ่มต้นโดยนำร่องในบางแผนก บริษัทจัดหาคนที่จะเป็นโค้ชให้ ถือเป็นแคมเปญที่สร้างสีสัน ความตื่นตัว ให้ทุกคนในองค์กรได้มีเวทีแสดงความคิดแปลกใหม่ของตัวเอง

องค์กรสร้างสรรค์ นอกจากระบบแล้ว บรรยากาศก็ต้องใช่ เช่น การเปลี่ยนบทบาท ฝ่ายบริหารมาให้บริการฝ่ายพนักงานบ้าง ความเสมอภาคนี้จะทำให้พนักงานกล้าคิด หรืออาจจะจัดให้มีวาระว่าด้วยเรื่องความผิดพลาด ให้มาคุยกัน ใครทำอะไรพลาดไป จะได้แก้ไข ศรัณย์ยังแนะนำว่า ควรให้รางวัลกับทุกไอเดีย แต่ต้องไม่ใช่ตัวเงิน โดยจากการสำรวจ พนักงานส่วนใหญ่ต้องการให้ตนเองเป็นที่รับรู้ของคนอื่น ๆ และต้องการได้รับความชื่นชมจากคนอื่น "เงินไม่ควรใช้เป็นรางวัลสำหรับการคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าคนอยากได้เงินมาก ก็จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์หด และเงินยังทำให้เกิดความปั่นป่วน เพราะแต่ละคนย่อมต้องมองว่าไอเดียของตนเองดี"

"รางวัล" ที่สร้างสรรค์อาจจะเป็นรูปแบบการจัดพาเหรด เพื่อประกาศว่า พนักงานคนนั้น ๆ คือผู้คิดค้นไอเดีย มีบริการแม่บ้านไปทำความสะอาดบ้านให้พนักงาน ให้ที่จอดรถพิเศษ"หรือถ้าใครมีไอเดีย ก็จะมีหวอ ดังขึ้น ตรงนั้นที ตรงนี้ที เท่ดีไม่หยอก"

COD อาจจะยังใหม่สำหรับคนไทย แต่ศรัณย์เชื่อว่า น่าจะเหมาะสำหรับวัฒนธรรมตะวันออกอย่างประเทศของเราที่มีระบบอาวุโส ความเกรงใจ ไม่กล้าแสดงออก หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะ COD จะทำให้การแสดงความคิดใหม่ ๆ เป็นเรื่องสนุก ได้รับการยอมรับจากองค์กร ที่สำคัญไอเดียสร้างสรรค์ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นไอเดียใหม่ ๆ หรือได้เงินล้าน แต่พอเกิดไอเดียที่ดีจริง ผู้บริหารก็นั่งตีขิมได้ หรืออย่างน้อยคงดีกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/

More from this category: เรื่องเล่าธุรกิจ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา