วิธีรับมือกับความเฉื่อยชาในที่ทำงาน

วิธีรับมือกับความเฉื่อยชาในที่ทำงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

พนักงานที่เฉื่อยชา ลาหยุดบ่อย ไม่ใส่ใจในกฎเกณฑ์หรือระเบียบของบริษัท ไม่ว่านโยบายหรือทิศทางของบริษัทจะเป็นเช่นไร เขาก็ยังคงเป็นอย่างที่เขาเป็น ทำอย่างที่เขาเคยทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำยังไม่ “ยินดี” แต่มักจะ “ยินร้าย” ต่อเรื่องต่าง ๆ เสมอ บางครั้งพวกเขาใช้อีเมลเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์บริษัท บ่อยครั้งที่ได้ยินเสียงพร่ำบนของเขาเวลาเดินไปดื่มน้ำหรือใช้ห้องรับประทานอาหารเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างออกรสออกชาติ พนักงานที่มีลักษณะและพฤติกรรมเช่นนี้สร้างความหนักอกหนักใจให้กับเพื่อนร่วมงานไม่น้อย ด้วยความที่เป็นคนเฉื่อยชา มาทำงานเพียงเพื่อให้ผ่านไปแต่ละวัน ไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง ซ้ำยังชอบวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์ ทำให้เพื่อนร่วมงานต่างเอือมระอา และนี่คือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเขาเองและต่อเพื่อนร่วมงาน หากยังเป็นอยู่เช่นนี้ เขาไม่อาจเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ ทั้งยังจะบั่นทอนกำลังใจของเพื่อนร่วมงานอีกต่างหาก ถ้าคุณปล่อยให้เขาทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เท่ากับว่าคุณกำลังส่งสัญญาณให้เขาเข้าใจว่าพฤติกรรมของเขาเป็นที่ยอมรับ และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ในทางกลับกันอาจทำให้พนักงานดี ๆ ที่ขยันขันแข็งเกิดอาการเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้นตามไปด้วย เนื่องจากเห็นว่า คนที่ทำตัวไม่ดี ไม่ทุ่มเทให้องค์กร กลับไม่ได้รับการลงโทษ แล้วเขาจะอุทิศตนทำงานหนักเพื่อองค์กรไปทำไม ในเมื่อไม่ทำก็ไม่ผิด นอกจากนี้ พนักงานที่เคารพนับถือคุณอาจเสื่อมศรัทธาต่อการบริหารจัดการของคุณ หากเป็นเช่นนั้นความจงรักภักดีที่พวกเขามีต่อองค์กรก็จะลดน้อยถอยลงไปด้วย เพราะคุณไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่ทุกคนในออฟฟิศต่างมองเห็นได้

เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคุณอาจขอข้อมูลและขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานของคนที่เป็นปัญหา และพยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่ชวนปวดขมองเหล่านี้ ต้องวิเคราะห์ว่าพนักงานที่เริ่มต้นการทำงานด้วยความกระตือรือร้นและตื่นเต้นกับงานใหม่ พวกเขาทำงานอย่างคนมีไฟ แต่แล้วพลังเหล่านั้นก็ค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่คุณต้องหาสาเหตุให้พบ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาให้เขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันพนักงานที่มีไฟ ไม่ให้ไฟมอดลงตามไปด้วย

และก่อนที่คุณจะเข้าไปใกล้ชิดกับพนักงานที่เฉื่อยชาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเขา คุณต้องยอมรับก่อนว่า อาการไม่มีความสุข กำลังใจถดถอยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีที่มาที่ไปเสมอ สิ่งที่เขาทำลงไปอาจชอบด้วยเหตุผลบางอย่างของเขา ควรทำให้เขาเห็นว่า คุณเข้ามาเพื่อช่วยเขาให้คลายจากความทุกข์ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข หากเขาคิดว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นจากบริษัท คุณอาจคุยกับเขาว่ามีระบบงานในส่วนไหนของบริษัทที่เป็นสาเหตุให้เขารู้สึกล้มเหลวในชีวิตเช่นนี้ และเมื่อคุณทราบปัญหาแล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา คือการบำรุงรักษาจิตใจของพนักงาน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • วิธีรักษาจิตใจพนักงาน ช่วยค้นหาว่าอะไรในตัวเขาที่จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ หรือทำให้เขามีการพัฒนาการทำงานขึ้นมาได้
  • ทำให้เขามั่นใจว่าคุณเชื่อในความสามารถของเขาที่จะไปสู่ความสำเร็จได้ การให้กำลังใจด้วยคำพูดที่สื่อความรู้สึกดี ๆ ช่วยกระตุ้นพลังในตัวเขาได้
  • ช่วยเขากำหนดเป้าหมายในระยะสั้นก่อน เพื่อให้เขาค่อย ๆ เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จ เป็นการปรับเปลี่ยนทัศคติในการทำงานทีละน้อย
  • ให้เขาได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่เขาชื่นชอบในทุก ๆ วัน เพราะการได้ทำในสิ่งที่เขาชอบจะทำให้งานออกมาดี และเขาก็มีกำลังใจที่จะทำอย่างอื่นด้วย

เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ในการจัดการกับความเฉื่อยชาในออฟฟิศได้ หากคุณทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของเขาได้ อย่าเพิ่งท้อแท้หรือสิ้นหวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน

More from this category: เทรนด์งานยอดฮิตและเงินเดือน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา