ปัญหาเรื่อง “ขาใหญ่” หรืออีกนัยหนึ่งสามารถเรียกว่า “เจ้าที่” ในออฟฟิศ เป็นปัญหาธรรมดาสามัญอันดับ 1 ที่พบเจอได้ในเกือบทุกที่ สังเกตได้ว่าลักษณะสำคัญของ “ขาใหญ่” คือ จะทำตัวเป็นกูรูในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปกิณกะของออฟฟิศ คนนี้ไม่ถูกคนนั้น คนนั้นชอบอย่างนี้ บลา บลา บลา และจะชอบข่มคนที่มาทีหลัง jobsDB มีวิธีการง่าย ให้คุณเอาไว้รับมือขาใหญ่ประจำออฟฟิศมาฝากกันค่ะ
1. ทำขาเล็ก
คนที่ชอบทำตัวเป็นขาใหญ่ในออฟฟิศ มักจะอยากให้คนยกย่อง ชื่นชม อยากให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่า ถ้าคุณเพิ่งมีโอกาสเข้าไปเป็นน้องใหม่ในออฟฟิศไหน ก็ทำตัวใสใสไปก่อน เป็นขาเล็ก ฟังคุณพี่ขาใหญ่เขาโม้ เออ ออ ชื่นชมไปตามความเหมาะสม วิธีนี้ ถือว่าเป็นการรับมือขั้นแรก ที่มักจะได้ผล ตราบใดที่ขาใหญ่เขาแค่โม้แต่ไม่ได้มาก้าวก่ายชีวิตของคุณ
2. เอาขาหลบ
ถ้าคุณเจอขาใหญ่ที่รู้จริงก็ดีไป ถือว่าได้ฟังประสบการณ์ของคนอื่นแล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง แต่ถ้าเจอขาใหญ่อารมณ์โม้ไว้ก่อนพ่อสอนไว้ เรื่องจริงไม่จริงไม่รู้พี่ท่านขอให้ได้อวด แล้วคุณก็จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด รำคาญ เหวอ ตกเป็นเหยื่อของน้ำลาย แนะนำว่าอย่าไปเถียงนะคะ เจอแบบนี้แนะว่าพยายามหลบเลี่ยงการสนทนานอกเหนือเรื่องงานกับคุณพี่เขาจะดีกว่า เพราะถ้าเถียงไปเค้าอาจแค้นฝังหุ่น เอาคุณไปเม้าท์ต่อให้เสียชื่ออีก ไม่คุ้มแน่ ๆ
3. สับขาหลอก
ขาใหญ่ประจำออฟฟิศจะชอบแนะนำ ยิ่งคุณเป็นน้องใหม่ คุณพี่เขายิ่งจะชอบกระเซ้าเย้าแหย่ แนะนำแกมขู่ต่าง ๆ นานา อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ฟังไปนะคะ ฟังด้วยใจอันเป็นกลาง ถ้าโดนขู่อะไรก็อือ ออ ไป อย่าเชื่อทั้งหมด ให้ท่องไว้ในใจว่า สิปปากกว่าไม่เท่าตาเห็น อะไรที่เรายังไม่พบเจอด้วยตัวเอง ก็อย่าเพิ่งกลัวไปก่อนขนาดนั้น เดี๋ยวจะหมดกำลังใจในการทำงานซะเปล่า ๆ บางทีคำแนะนำที่ขาใหญ่แนะมา ถ้ามันฝืนกับความรู้สึกเรา หรือเรามีไอเดียที่อยากจะทำในแบบอื่น ก็ให้ตอบขอบคุณในคำแนะนำของขาใหญ่ไป แต่สุดท้ายแล้ว สับขาหลอกเลยค่ะ ยึดแนวทางที่คุณอยากทำก่อนจะดีกว่า ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี อย่าให้ทัศนคติของคนอื่นมามีผลกับเราค่ะ
4. ยืนขาสู้
อันนี้ขอแนะนำในสถานการณ์ที่ คุณรู้สึกว่าขาใหญ่เริ่มขยับเข้ามาใกล้คุณมากไป นางเริ่มมาวอแวราวีกับคุณ และการทำงานของคุณมากเกินไปเท่านั้นนะคะ ถ้าคุณเริ่มรู้สึกอึดอัด ก็ถอยออกมา แล้วทำตามสิ่งที่คุณคิดว่าถูก หรือดี แม้ว่ามันจะเป็นแนวทางที่ต่างจากขาใหญ่ในออฟฟิศ คำว่าสู้ในทีนี้ไม่ใช่ให้คุณไปท้าสู้ต่อยตี หรือระรานใคร แต่หมายถึง ให้คุณมีจุดยืนในการทำงานของตัวเองแล้วก็ยึดมั่นในจุดยืนนั้น แนะนำว่า ใช้วิธีการนั้นกับขาใหญ่ที่มายุ่งกับคุณจนเกินพอดีเท่านั้น
5. หาขาของตัวเอง
เชื่อว่าไม่ใช่คุณคนเดียวแน่ ๆ ที่เอือมระอาขาใหญ่ในออฟฟิศ ถ้าถึงจุดที่โดนรังแกมากจนไม่ไหวแล้ว ก็ลองเอ่ยปากถามคนอื่นดูว่ารู้สึกแบบเดียวกับคุณหรือเปล่า สร้างพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันในออฟฟิศก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด จะได้มีคนไว้ให้ปรับทุกข์ ไว้ปลอบใจ และแชร์ความรู้สึกร่วมกัน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ