“ดัชนี” เป็นตัววัดที่เกิดจากการคำนวณทางสถิติ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ต้องการวัด เป็นเครื่องมือในการบ่งชี้สถานการณ์ต่างๆ ที่สนใจ ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะมีดัชนีที่ใช้ชี้วัดภาวะและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม สำหรับดัชนีที่ใช้ในตลาดเงินหรือตลาดทุน ก็คือ “ดัชนีราคาหุ้น”
การคำนวณดัชนีนั้นมีวิธีการคำนวณที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลักในการคำนวณก็คือ แสดงถึงการเปลี่ยนค่าไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับค่าของสิ่งนั้นในวันฐาน
ดัชนี...เครื่องมือวัดผลการลงทุนและสร้างนวัตกรรมทางการเงิน
ดัชนีในตลาดการเงิน นอกจากเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์แล้ว ยังมีความหมายถึงการเป็นตัวแทนของกลุ่มสินทรัพย์ (portfolio) ที่ประกอบดัชนีนั้นๆ ด้วย
เมื่อกล่าวถึงดัชนีในตลาดการเงิน เราสามารถระบุถึงประโยชน์ของดัชนีได้อย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรกคือ เพื่อใช้เป็นตัววัดทางสถิติ เพื่อการวัดผล สำหรับใช้ในการเปรียบเทียบและการวิเคราะห์ เรียกว่าเป็น Benchmark index ยกตัวอย่างเช่น Standard & Poor’s 500 และ SET Index เป็นต้น
ประการที่สอง เป็นประโยชน์ในด้านนวัตกรรมทางการเงิน เป็นการใช้ดัชนีเพื่อการอ้างอิงในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เรียกว่าเป็น tradable index ยกตัวอย่างเช่น SET50 Index ซึ่งปัจจุบันเป็น Underlying Index ของ TDEX, SET50 Index Futures และ SET50 Index Options ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากดัชนีในการกระจายการลงทุนและสร้างกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างหลากหลาย
ดัชนีที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
นอกจากนั้น สำหรับดัชนีที่ใช้เพื่อการอ้างอิงในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินควรจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วยคือ เป็นตัวแทนที่ดีของตลาดในวงกว้าง เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด องค์ประกอบของดัชนีมีสภาพคล่องสูง มีต้นทุนที่ต่ำ ในการสร้างกลยุทธ์การซื้อขายหรือในการสร้างพอร์ทการลงทุนเพื่อเลียนแบบผลตอบแทนของดัชนีนั้น
ดังนั้น ในการคำนวณดัชนีที่ใช้เพื่อการอ้างอิงในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้น จึงมักจะกำหนดให้หุ้นที่จะนำเข้ามารวมในการคำนวณนั้น ต้องผ่านเกณฑ์สภาพคล่อง และเกณฑ์ Free-float ก่อน
ที่มา : วารสารตลาดหลักทรัพย์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551