การลาออกเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนหนักใจ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง และก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกของหัวหน้าว่าจะมองเราอย่างไร หลังจากพูดว่า ลาออก จะมองหน้ากันติดหรือไม่ เขาจะเข้าใจเราหรือเปล่า และความสัมพันธ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะยากไปหมด ถ้าอย่างนั้น jobsDB มีเทคนิคที่จะทำให้การลาออกของคุณเป็นเรื่องง่าย และไม่ใช่ปัญหาหนักใจอีกต่อไป มาวางแผนลาออกอย่างสง่าผ่าเผย goodbye แบบสตรองกันค่ะ
วางแผนล่วงหน้าเมื่อตัดสินใจที่จะลาออกแล้วคุณควรเริ่มวางแผนล่วงหน้าได้เลย เช่น วางแผนที่จะบอกเรื่องการลาออกกับหัวหน้า วางแผนการจัดการงาน โอนถ่ายงานให้กับคนที่จะมารับช่วงต่อ คุณต้องค่อย ๆ ทยอยเคลียงานที่คุณรับผิดชอบอยู่ให้จบให้ได้ ไม่ใช่ว่าพอมองหาเป้าหมายใหม่แล้วก็จะทิ้งของเก่าเอาซะดื้อ ๆ แบบนี้ไม่สตรองนะคะ
บอกลาอย่างมีเหตุผลเมื่อได้งานใหม่แล้ว แน่นอนว่าถึงเวลาต้องบอกลาอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ก็ดูเหมือนว่าข้อนี้นี่แหละที่ทำให้หลายคน กลุ้มเอามาก ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเดินไปบอกลาแบบไหน แค่คิดก็ขาสั่นขึ้นมาแล้ว แต่เอาเข้าจริง เรามีเหตุผลดี ๆ มากมายในการลาออก อย่างเช่น อยากลองทำอะไรใหม่ ๆ , อยากเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเอง, อยากลองเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ เหตุผลเหล่านี้ที่จริงอาจไม่ตรงกับใจ แต่อย่างไรก็ดูดีแน่นอน
สร้างผลงานอันแสนประทับใจไม่ว่าที่จริงแล้วคุณจะลาออกด้วยเหตุผลอะไร จะเบื่อ จะเครียด จะอยากหนีแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่คุณควรฝากไว้นั่นก็คือความรับผิดชอบ คุณควรรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายไว้ก่อนหน้าให้เสร็จสมบูรณ์ และทำผลงานให้สุดฝีมือสร้างความประทับใจให้กับทุกคน ท่องไว้เสมอว่า ไม่ว่าจะอย่างไรทุกคนควรได้มีโอกาสจดจำผลงาน และฝีมือของคุณ แบบนี้ไม่ใช่แค่สตรอง แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับตัวเอง เผื่อวันหน้าเจ้านายคิดถึง อาจเรียกตัวกลับมาร่วมงานอีกก็ได้นะคะ
ลาออกในจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเรารู้ดีว่าหากคุณมีความคิดจะลาออกแล้วละก็ ใจคุณนั้นไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแน่นอน อยากจะออกให้ได้ซะวันนี้พรุ่งนี้ แต่ด้วยมารยาทแล้วคุณไม่ควรทำแบบนั้น คุณควรดูจังหวะและเวลาที่เหมะสม ไม่ใช่ออฟฟิศกำลังร้อน งานกำลังยุ่ง คนทำงานกำลังหัวหมุน เจ้านายกำลังเครียด แล้วคุณซึ่งเป็นกำลังสำคัญดันยื่นจดหมายลาออกอีก โอ้โหแบบนี้มองหน้ากันไม่ติดแน่ ๆ ฉะนั้นต่อให้เราอยากจะลาออกแค่ไหนแต่สุดท้ายการรักษาน้ำใจก็ยังคงเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่ดี
มอบหมายงานให้กับผู้ที่รับช่วงต่อเมื่อทุกอย่างลงตัวถึงเวลาลาออกจริง ๆ คุณควรจัดสรรงานที่คุณรับผิดชอบอยู่ให้เป็นระบบ เพื่อมอบหมายให้กับผู้ที่รับช่วงต่อได้อย่างไม่ยาก อย่าเดินออกจากอ๊อฟฟิศโดยไม่บอกอะไรใครเลย เพราะจะทำให้คนที่มาทำงานต่อจากคุณหัวหมุนแน่ ๆ และหากเป็นอย่างนั้นแน่นอนว่าคุณจะต้องถูกพูดถึงในทางลบแน่นอน ซึ่งไม่มีใครชอบหรอก จริงไหม
เขียนจดหมายลาออกอย่างสุภาพและให้เกียรติออฟฟิศบางคนอาจคิดไม่ถึงว่า จดหมายลาออกที่ส่งถึงฝ่ายบุคคลนั้นอาจมีผลต่อชีวิต ก็เลยทิ้งระเบิดอารมณ์ลงไปในนั้นซะเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทำงานแล้วไม่ก้าวหน้า หัวหน้าไม่ได้เรื่อง บรรยากาศการทำงานไม่ดี ระบบการทำงานไม่โอเคฉันทนทำต่อไปไม่ได้แล้ว โอ้โห จัดไปชุดใหญ่ เพราะเข้าใจว่าอย่างไรฝ่ายบุคคลก็คงไม่ได้เห็นหน้าเราอีก แต่เดี๋ยวก่อน คุณรู้ไหมว่าโลกมันไม่ได้กว้าง ชื่อของคุณอาจถูกบันทึกและจดจำกลายเป็นคนดังข้ามออฟฟิศก็เป็นได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่เราควรเขียนจดหมายลาออกด้วยความรู้สึกเคารพและให้เกียรติสถานที่ทำงานของเราจะดีที่สุด
รักษา Connection กับคนในที่ทำงานไว้Connection ใครคิดว่าไม่สำคัญ ในการทำงานงาน Connection ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ถึงแม้ว่าจะลาออกจากที่ทำงานเก่าแล้ว แต่อย่าเพิ่งบอกลาหัวหน้า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน คุณควรรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ การที่คุณมีคนรู้จักมากมาย หลากหลายอาชีพ จะทำให้คุณมีโอกาสมากกว่าคนอื่น มีทางที่จะต่อยอดในการทำงานมากกว่า เพราะฉะนั้น ถึงคุณจะลาออก แต่คุณไม่จำเป็นต้องบอกลาคนที่ทำงานของคุณ อย่าเพิ่งคิดว่าลาแล้วลาลับ จะไม่กลับมาเจอกัน เพราะไม่แน่ คนพวกนั้นอาจจะช่วยเหลือเรื่องงานกับคุณในภายหน้าก็ได้ ใครจะไปรู้
การลาออกไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ดังนั้นหากคุณพบว่าคุณมีเป้าหมายใหม่ มีงานใหม่ที่ใช่และตรงกับตัวคุณแล้ว ก็ลองวางแผนเรื่องการลาออกจากที่เก่าให้ดี สมเหตุสมผล และที่สำคัญคุณควรทำทุกขั้นตอนอย่างมีสติ ไตร่ตรองทุกอย่าง คิดและทำอย่างมืออาชีพนะคะ จะได้ไม่มีใครมาว่าเราได้ทีหลัง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ