สำนักงานประกันสังคมแจงค่าสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 13 พ.ค. 51 เป็นต้นไป ดังนี้
กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 45,000 บาท
กรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกิน45,000 บาทให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความ จำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 65,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท
- ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
- ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สารเคมี หรือไฟฟ้า จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้เกินกว่าร้อยละ 30 ของร่างกาย
- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงและเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีก65,000 บาท ไม่เพียงพอให้ นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ รวมค่ารักษาพยาบาลทั้ง 2 กรณีแล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 1 ถึง 6 ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป
- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 1 ถึง 6 ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ยี่สิบวันขึ้นไป
- บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน
- การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งรุนแรงและเรื้อรังจนเป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว
กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 300,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยใน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 1,300 บาท
หมายเหตุ
- ลูกจ้างเข้ารักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ไม่ต้องจ่ายค่ารักษา
- ถ้าเข้ารักษาในสถานพยาบาลอื่น ให้ทดรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน แล้วเบิกคืนจากกองทุนเงินทดแทนภายใน 90 วัน
- นายจ้างมีหน้าที่ส่งแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท. 44) ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างทราบ
มีข้อสงสัยโทรสายด่วนประกันสังคม 1506 หรือดูรายละเอียดได้ทาง www.sso.go.th
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลินิกโรคจากการทำงาน บริการใหม่จากสำนักงานประกันสังคม
ประกันสังคมเพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน