การได้ทำงานกับเพื่อนสนิทที่มีสถานะเป็นหัวหน้าเรา น่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต้องการ เพราะคิดว่าจะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น เหมือนมีที่ปรึกษาส่วนตัว ด้วยความที่รู้จักสไตล์การทำงานและคุ้นเคยนิสัยใจคอกันมาก่อนแล้ว แต่ก็มีหลายกรณีไม่ว่าจะสนิทกันมากแค่ไหน กลับเลิกคบกันเพราะขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือมีความคิดเห็นการทำงานไม่ตรงกัน สุดท้ายต้องมีฝ่ายใดฝ่ายนึง ลาออก หรือแม้แต่คนสนิทกันในวันนี้ ในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะผิดใจกันเมื่อไหร่ ไม่มีใครอยากเสียเพื่อนและเสียงานไปพร้อมๆ กันแน่นอน แต่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้อย่างไร เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากกัน
ถึงแม้จะสนิทกันมากแค่ไหน เมื่อถึงเวลางานก็ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เราเป็น ลูกน้อง ก็ต้องรักษามารยาทในการทำงาน ทำงานที่ได้รับมอบหมาย ยอมรับฟังคำวิจารณ์ ทะเลาะกันเรื่องงานได้ แต่ไม่นำมาเป็นประเด็นต่อจนกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน และไม่ใช้ความสนิทมาเป็นข้ออ้างในการแสดงกิริยามารยาทที่เกินงาม เช่น พูดหยอกล้อแซวเล่น คุยเสียงดังในเวลางาน ควรแยกแยะว่าเวลาไหนทำงาน เวลาไหนเล่นก็คุยกันตามปกติได้
การที่คุณสนิทกับหัวหน้า ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเรียกร้องสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น เช่น เลือกทำงานที่ชอบได้ ถือโอกาส มาสาย หรือเลื่อนกำหนดวันส่งงาน ถึงแม้หัวหน้าจะอนุญาตแต่พฤติกรรมเหล่านี้คือการเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน คนที่เดือดร้อนไม่ใช่แค่คุณคนเดียว หัวหน้าก็จะถูกมองไม่ดีไปด้วย จนไม่เป็นที่เคารพของพนักงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปอย่างยากลำบาก สิ่งที่คุณควรโฟกัสคือการรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พัฒนาความรู้ความสามารถตัวเอง มากกว่าจะไปคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว
ถึงจะมีเจ้านายเป็นเพื่อน แต่ก็ไม่ใช่เพื่อนเล่นที่เราจะนินทาได้ ข้อมูลไหนที่เป็นความลับของบริษัทก็ต้องรักษาไว้ รวมไปถึงการนินทาเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แล้วยังทำให้ความน่าเชื่อถือเราลดลงไปมาก เพราะแม้แต่เพื่อนสนิทเรายังนินทาลับหลังได้ แล้วใครจะไว้ใจร่วมงานหรือปรึกษากับเราหละทีนี้ อีกทั้งอาจสร้างความแตกแยกจนนำไปสู่ ปัญหาการเมืองในที่ทำงาน ได้
ความอิจฉาเป็นทัศนคติแง่ลบที่จะบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพจิต ทำให้เรา ทำงานอย่างไม่มีความสุข การที่เพื่อนทำงานตำแหน่งสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าเราด้อยกว่าเขาทุกๆ ด้าน ชีวิตเรายังมีอีกหลายมิตินอกเหนือจากการทำงาน เปลี่ยนความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้เป็นแรงผลักดันว่าสักวันหนึ่งเราต้องประสบความสำเร็จให้ได้จะดีกว่า
นี่มันยุคสมัยไหนแล้ว เลิกเถอะค่ะนิสัยประจบสอพลอ ก่อนร่วมงานกันไม่เคยชื่นชมขนาดนี้ พอได้มาทำงานออฟฟิศเดียวกันเยินยอกันทุกเช้าเย็น ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ได้มาเพราะวิธีลัด ไม่ทำให้รู้สึกภูมิใจเท่ากับความสามารถของเราจริงๆ และไม่ยั่งยืนด้วย ผลงานที่โดดเด่นสม่ำเสมอต่างหากที่จะดึงความสนใจของเจ้านายได้
การวิจารณ์การทำงานอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ลูกน้องปฏิบัติกับหัวหน้าได้ ไม่ใช่สิ่งที่เสียมารยาทแต่อย่างใด เพราะหนึ่งในคุณสมบัติของคนเป็น หัวหน้าที่ดี คือเคารพความเห็นต่าง และรับฟังคำแนะนำของลูกทีมนี่แหละค่ะ ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน หากแนวทางการทำงานของคุณกับหัวหน้าไม่ตรงกัน ก็ควรชี้ให้เห็นถึงปัญหาของงาน และเสนอแนวทางแก้ไข ที่สำคัญคือต้องสื่อสารอย่างสุภาพ และไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้งค่ะ
สังคมการทำงานเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ที่อาจเปลี่ยนเพื่อนสนิทกลายเป็นศัตรูได้ในพริบตา แต่ถ้าเรารู้จักหน้าที่ตัวเอง มีสติทุกครั้งในการทำงาน ไม่ใส่ใจกับดราม่าหรือเรื่องไร้สาระที่บั่นทอนจิตใจ ก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ ที่จริงแล้วคำแนะนำทุกข้อที่กล่าวมาสามารถนำไปปรับใช้ได้กับ เพื่อนร่วมงาน ทุกคน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะเจ้านายกับลูกน้องเสมอไปก็ได้ หากคุณปฏิบัติได้ตามนี้ จะร่วมงานกับใครก็ไม่มีปัญหาแน่นอน
#เพราะสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องงาน
#jobsDB
หางานได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน application บนมือถือจากjobsDBทั้ง iOS และ Android โหลดเลย